CAT รวมพลังไมโครซอฟท์ เสริมสร้างความปลอดภัยในโลกดิจิทัลทั่วประเทศ

30 มิถุนายน 2016

NT cyfence
NT cyfenceทีมงาน NT cyfence ที่พร้อมให้คำปรึกษา และ ดูแลความปลอดภัยให้กับทุกองค์กร อย่างครบวงจร ด้วยทีมงานมืออาชีพ

 CAT รวมพลังไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น เสริมสร้างความปลอดภัยในโลกดิจิทัลทั่วประเทศ เป็นรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันนี้ (30 มิถุนายน 2559) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวความร่วมมือในการเสริมสร้างความปลอดภัยในโลกดิจิทัลระดับประเทศ ภายใต้โครงการ Cyber Threat Intelligence Program (CTIP) เป็นรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านภัยร้ายยุคไซเบอร์ โดยมี ดร.สุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด  (มหาชน) และ คีชาว์ฟ ดาห์คาด ผู้อำนวยการด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและหน่วยอาชญากรรมดิจิทัล ไมโครซอฟท์ เอเชีย เป็นผู้แทน

โครงการ Cyber Threat Intelligence Program หรือ CTIP ปฏิบัติงานภายใต้ความดูแลของหน่วยอาชญากรรมดิจิทัลของไมโครซอฟท์ (Microsoft Digital Crimes Unit; DCU) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับดีไวซ์ต่างๆ ที่ตกเป็นเหยื่อของมัลแวร์ให้กับพันธมิตรในโครงการ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ (CERTs) หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เพื่อปูทางไปสู่การลงมือกำจัดมัลแวร์ต่อไปในอนาคต ซึ่งในปัจจุบัน ฐานข้อมูลของโครงการ CTIP ครอบคลุมไอพีแอดเดรสของดีไวซ์ที่ติดมัลแวร์รวมกว่า 70 ล้านรายการ โดยนับตั้งแต่การจัดตั้งโครงการขึ้นเมื่อปี 2556 เป็นต้นมา

โดย CAT และไมโครซอฟท์ จะร่วมกันดำเนินการในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านภัยร้ายในโลกอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะมัลแวร์ ซึ่งมีรายงาน Security Intelligence Report ฉบับล่าสุดของไมโครซอฟท์ระบุว่าอัตราการตรวจพบมัลแวร์[1] (encounter rate; ER) ในประเทศไทยในช่วงปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 6.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่จำนวนเฉลี่ยของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต้องทำการกำจัดมัลแวร์ด้วยเครื่องมือของไมโครซอฟท์[2]  (computers cleaned per mille; CCM) พุ่งสูงขึ้นเกินกว่าหนึ่งเท่าตัว จาก 22.2 มาเป็น 46.3 ต่อ 1,000 เครื่อง[3]

CAT รวมพลังไมโครซอฟท์ เสริมสร้างความปลอดภัยในโลกดิจิทัลทั่วประเทศ

 

ดร. สุรพันธ์ เมฆนาวิน

 

ดร. สุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการบริษัท และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวอีกว่า “ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคม เรามีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่าภัยอันตรายต่างๆ ในโลกออนไลน์สามารถแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว โดยหากมีจุดอ่อนในระบบให้จู่โจมเพียงจุดเดียว ก็อาจนำไปสู่ความเสียหายที่ร้ายแรงและกว้างขวางได้ ข้อมูลจากศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ระบุว่ามีเหตุการณ์จู่โจมจากอาชญากรไซเบอร์เกิดขึ้นถึง 4,300 ครั้งในประเทศไทยตลอดปี 2558 ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 30% โดยในจำนวนนี้ กว่า 35% มีมัลแวร์เป็นต้นเหตุ ความร่วมมือกับไมโครซอฟท์จะช่วยให้ลูกค้าของ CAT วางใจได้ในความปลอดภัยของข้อมูลและการใช้งานระบบเครือข่าย ด้วยกลยุทธ์เชิงรุกที่ช่วยให้เราสามารถตัดการติดต่อสื่อสารระหว่างมัลแวร์และอาชญากรผู้เป็นเจ้าของมัลแวร์ โดยทางศูนย์ Security Operating Center (SOC) ของ NT cyfence จะทำการแจ้งเตือนไปยังลูกค้าได้อย่างทันท่วงที เพื่อจะได้ดำเนินการหาสาเหตุและกำจัดมัลแวร์อย่างเร่งด่วนต่อไป”

คีชาว์ฟ ดาห์คาด

คีชาว์ฟ ดาห์คาด ผู้อำนวยการด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและหน่วยอาชญากรรมดิจิทัล ไมโครซอฟท์ เอเชีย กล่าวเสริมว่า “ไมโครซอฟท์ได้ช่วยกำจัดมัลแวร์จากคอมพิวเตอร์ทั่วโลกแล้วกว่า 10 ล้านเครื่อง  และเรายังคงทำงานกับเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลกเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของมัลแวร์ เมื่อเร็วๆ นี้ เราได้ทำการเผยแพร่รายงาน Malware Infection Index 2016 ซึ่งระบุว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความเสี่ยงด้านมัลแวร์สูงกว่าภูมิภาคอื่น โดยจาก 5 อันดับแรกของประเทศที่มีความเสี่ยงการติดมัลแวร์สูงสุดนั้น พบว่าเป็นชาติจากภูมิภาคนี้ถึง 4 อันดับด้วยกัน”

“สำหรับประเทศไทยเอง มีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับ 3 ในเอเชียแปซิฟิก และอันดับ 7 ของโลก ในโอกาสนี้ เราจึงมีความยินดีไม่น้อยที่ได้เห็นประเทศไทยเดินหน้าเสริมสร้างเกราะป้องกันเพื่อความปลอดภัยในโลกดิจิทัล ความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างไมโครซอฟท์และ CAT ถือเป็นการเปิดตัวโครงการ CTIP สู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก และยังเป็นก้าวสำคัญในการร่วมแรงร่วมใจแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์อีกด้วย”

CAT รวมพลังไมโครซอฟท์ เสริมสร้างความปลอดภัยในโลกดิจิทัลทั่วประเทศ


 

  1. อัตราส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยแบบเรียลไทม์ของไมโครซอฟท์ และมีการรายงานตรวจพบมัลแวร์ซอฟต์แวร์ที่ไม่พึงประสงค์ หรือภัยอันตรายประเภทใดประเภทหนึ่งในช่วงเวลาที่ทำการเก็บข้อมูล
  2. จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์เฉลี่ยต่อ 1,000 เครื่องที่พบรายงานการกำจัดมัลแวร์ด้วยเครื่องมือ Malicious Software Removal Tool ของไมโครซอฟท์
  3. Microsoft Security Intelligence Report v20, Microsoft, 2016

บทความที่เกี่ยวข้อง