WordPress ปลอดภัยหรือไม่ หากนำมาทำเว็บไซต์องค์กร
22 สิงหาคม 2024
WordPress ยังคงครองบัลลังก์แพลตฟอร์ม CMS (Content Management System) อันดับหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูงสุดทั้งในไทยและทั่วโลก ด้วยจุดเด่นด้านความยืดหยุ่นและการใช้งานที่ง่าย อ้างอิงข้อมูลล่าสุดจาก w3techs.com โดย WordPress ครองส่วนแบ่งการใช้งานเป็น 43.5% ของเว็บไซต์ทั้งหมดทั่วโลก และ 62.7% ในตลาด CMS ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เหนือกว่าแพลตฟอร์มอื่นอย่าง Joomla, Drupal, Squarespace และ Wix ที่มีผู้ใช้ไม่เกิน 4% ถึงแม้ว่า WordPress จะมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากก็ใช่จะเป็นการการันตีได้ว่า WordPress คือแพลตฟอร์มที่ดีที่สุด และปลอดภัยในการใช้งานมากที่สุด แต่ทั้งนี้ WordPress ก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย และข้อควรระวังในการนำมาใช้งาน หากนำมาใช้ในการทำ Website ขององค์กร จึงต้องคอยสังเกตสัญญาณเตือน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้เว็บไซต์มีความเสี่ยงจากการถูกโจมตี
ดังนั้น WordPress จะปลอดภัยเพียงพอสำหรับการใช้งานในองค์กรของคุณหรือไม่? คุณสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ในบทความนี้กันครับ
ใช้งานได้ง่าย เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น และ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
WordPress เป็น Open Source ที่ใช้งานได้ฟรี โดย WordPress.org เปิดให้ดาวน์โหลดและปรับแต่งเว็บไซต์ได้อย่างยืดหยุ่น ช่วยให้คุณสร้างและปรับแต่งเว็บไซต์ของคุณเองได้เต็มที่ มีธีมและเครื่องมือหลากหลาย รวมถึงระบบ Page Builder ที่ใช้งานง่ายผ่านการ Drag & Drop โดยไม่ต้องเขียนโค้ด แต่หากต้องการชื่อโดเมนและโฮสติ้งจากทาง WordPress จะมี WordPress.com ซึ่งเป็นบริการแบบ SaaS จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในราคาที่ไม่สูงมาก เพียงหลักพันเท่านั้น
รองรับการใช้งานได้กับทุกอุปกรณ์
ปัจจุบันผู้คนมักเข้าชมเว็บไซต์ผ่านอุปกรณ์หลากหลาย เช่น คอมพิวเตอร์ มือถือ และแท็บเล็ต ซึ่งบางครั้งอาจพบปัญหาหน้าเว็บไม่พอดีกับหน้าจอ หากองค์กรของคุณใช้เว็บไซต์ในการดำเนินธุรกิจ การใช้ WordPress จึงเหมาะอย่างยิ่ง เพราะคุณไม่ต้องกังวลกับการปรับขนาดภาพในเว็บตามอุปกรณ์ เพราะธีมส่วนใหญ่จะปรับขนาดหน้าเว็บให้เหมาะกับทุกอุปกรณ์โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ ยังสามารถปรับขนาดรูปภาพและตัวอักษรให้เข้ากับแต่ละอุปกรณ์ได้ง่ายดาย
เหมาะสำหรับการทำ SEO Content
SEO หรือ Search Engine Optimization คือกระบวนการทำให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับต้น ๆ ในผลการค้นหาบนเครื่องมือค้นหา เช่น Google, Yahoo, และ Bing ซึ่ง WordPress มีทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการทำ SEO โดยเฉพาะปลั๊กอินอย่าง Rank Math ที่มาพร้อมฟังก์ชันมากกว่า 87 อย่าง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ SEO ให้เว็บไซต์ของคุณ
การทำเว็บไซต์ต้องไม่เพียงแค่สวยงาม แต่ยังต้องรองรับ SEO เพื่อให้ติดอันดับใน Google ธีม WordPress ส่วนใหญ่ถูกออกแบบตามหลัก SEO โดยเฉพาะธีมยอดนิยมใน Themeforest ที่มีโครงสร้าง SEO ที่ดี คุณสามารถโฟกัสไปที่การจัดข้อมูล และหากต้องการปรับแต่ง SEO เพิ่มเติม ก็สามารถติดตั้ง Plugin SEO ได้ตามต้องการ
จุดเด่นของ WordPress ในการรองรับ SEO:
- ธีมส่วนใหญ่ถูกออกแบบตามหลัก SEO
- ปรับแต่ง Permalinks ให้สวยงามได้
- ใช้ SEO Plugin เพื่อปรับแต่ง Metadata ง่ายขึ้น
- ใส่คำอธิบาย ALT ในรูปภาพได้
- ปรับปรุงความเร็วเว็บไซต์ด้วย Plugin
- รองรับ Mobile Responsive ซึ่งสำคัญต่อ SEO
- มีปลั๊กอินสำหรับเพิ่มปุ่ม Social Share
สร้างได้เกือบทุกประเภทเว็บไซต์โดยไม่ต้องเขียน Code เองเลย
WordPress สามารถใช้ในการสร้างเว็บไซต์ได้เกือบทุกประเภทโดยใช้งาน Plugin ในการเพิ่มฟังก์ชั่นการทำงายโดยไม่จำเป็นต้องเขียนcodeเองเลย เช่น
- เว็บบล็อก (Blog)
- เว็บไซต์ทั่วไปที่ต้องการความสวย และสร้างความน่าเชื่อถือ
- เว็บไซต์ร้านค้า ECommerce
- เว็บไซต์ธุรกิจ หรือสำหรับบริษัท
- เว็บไซต์สำหรับจัดงาน Event เช่น ขายบัตรคอนเสิร์ต
- เว็บไซต์ e-learning สำหรับคอร์สเรียนออนไลน์
ไม่จำเป็นต้องรู้ Code ติดตั้งง่าย และมี Plugin/Theme ให้เลือกมากมาย
การสร้างเว็บไซต์ด้วย WordPress ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการเขียน Code มาก่อน การติดตั้งง่ายและมี Plugin กับ Theme ให้เลือกมากมาย เพราะการสร้าง Layout ในอดีตที่ซับซ้อนต้องอาศัยทักษะ CSS และ HTML แต่ปัจจุบัน WordPress มาพร้อมกับ Block Editor หรือ Gutenberg ที่ทำให้การสร้าง Layout เป็นเรื่องง่ายขึ้น Plugin คือหัวใจสำคัญของ WordPress ที่ช่วยเพิ่มฟีเจอร์และความสามารถใหม่ ๆ ให้กับเว็บไซต์ มี Plugin สำหรับทุกหมวดหมู่และมีให้เลือกหลากหลายจากผู้พัฒนาต่าง ๆ ส่วน Theme คือหน้าตาภายนอกของเว็บไซต์ที่เรามองเห็น แต่ละ Theme ถูกออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันเช่น Theme สำหรับเว็บไซต์ บริษัท ร้านค้า หรือเว็บท่องเที่ยว มีทั้งฟรีและเสียเงิน แต่โดยเฉพาะTheme ฟรีก็มีให้เลือกมากมาย นอกจากนี้ยังมี Plugin จัดหน้าฟรีมากมายที่ใช้ระบบ Drag & Drop ทำให้คุณสร้างเว็บได้โดยไม่ต้องเขียนโค้ด การติดตั้ง WordPress ก็ทำได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานคอมพิวเตอร์ คุณสามารถติดตั้งผ่านระบบ Control Panel ของ Hosting เช่น Direct Admin หรือ Plesk ซึ่งมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน ทำให้สามารถขึ้นเว็บได้ในเวลาไม่นาน
ข้อเสีย หรือ ข้อควรระวังหากจะนำ WordPress มาใช้งานในองค์กร
เว็บไซต์อาจโหลดช้าหากติดตั้ง Plugin มากเกินไป
WordPress มีปลั๊กอิน Plugin ให้เลือกใช้มากมาย โดยเฉพาะ Plugin ฟรีที่มีให้เลือกเยอะมากนับหมื่นตัว บางคนติดตั้งPluginหลายร้อยตัวเพราะชื่นชอบฟีเจอร์ต่าง ๆ แต่การติดตั้ง Plugin มากเกินไปอาจทำให้เว็บไซต์โหลดช้า ดังนั้นควรเลือกใช้เฉพาะ Plugin ที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น
จำเป็นต้องอัปเดต WordPress, Plugin และ Theme อยู่บ่อย ๆ
WordPress Core, Plugin และ Theme มักจะมีการอัปเดตอยู่เสมอเพื่ออัปเดตด้านความปลอดภัย, ปรับปรุงประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ การไม่อัปเดตเป็นประจำอาจทำให้เว็บไซต์มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย และในบางครั้งอาจจะทำให้ Web ใช้งานไม่ได้
ปัญหาด้านความปลอดภัยของ WordPress
มีหลายความเห็นบอกว่า WordPress นั้นโดนแฮกง่าย แต่จริง ๆ แล้ว Core ของ WordPress ถูกออกแบบมาให้ปลอดภัย และ มีการแก้ไขหากเกิดปัญหาอย่างรวดเร็ว แต่ปัญหามักเกิดจากการใช้ปลั๊กอินหรือธีม ที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึง ปลั๊กอินหรือธีม ที่ผิดกฏหมาย (ธีมเถื่อน) ซึ่งเสี่ยงต่อการโดนแฮกมากกว่า จึงเกิดเป็นช่องโหว่ ในการถูกโจมตีได้ง่าย ๆ
ช่องโหว่ด้านความปลอดภัย
ด้วย WordPress เป็นแพลตฟอร์มแบบ Open Source จึงทำให้แฮกเกอร์สามารถเห็น Code และ ไล่ดูข้อผิดพลาดใน Code ได้ เพื่อลดความเสี่ยงนี้ ควรเลือกใช้ Plugin และ Theme ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับเท่านั้นเพื่อลดความเสี่ยงในการถูกโจมตี โดยล่าสุดข้อมูลจาก thehackernews.com ระบุว่า นักวิจัยด้านความปลอดภัยได้พบช่องโหว่ในปลั๊กอิน WordPress เว็บไซต์ ทำให้เสี่ยงต่อการโดนโจมตีแบบ cross-site scripting (XSS) ซึ่งหากการโจมตีสำเร็จ แฮกเกอร์จะสามารถเข้าไปวางสคริปต์ที่เป็นอันตรายได้ โดยช่องโหว่ที่พบได้แก่
- CVE-2023-6961 (CVSS score: 7.2) เป็นช่องโหว่ที่พบในปลั๊กอิน WP Meta SEO ตั้งแต่เวอร์ชัน 4.5.12 ลงไป โดยมีระดับความรุนแรงอยู่ที่ 7.2
- CVE-2023-40000 (CVSS score: 8.3) เป็นช่องโหว่ที่พบในปลั๊กอิน LiteSpeed Cache ตั้งแต่เวอร์ชัน 5.7 ลงไป โดยมีระดับความรุนแรงอยู่ที่ 8.3
- CVE-2024-2194 (CVSS score: 7.2) เป็นช่องโหว่ที่พบในปลั๊กอิน WP Statistics ตั้งแต่เวอร์ชัน 14.5 ลงไป โดยมีระดับความรุนแรงอยู่ที่ 7.2
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการโจมตี แนะนำให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ทำการตรวจสอบปลั๊กอินที่ติดตั้ง และควรอัปเดตให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ อีกทั้งควรหมั่นตรวจพฤติกรรมที่น่าสงสัย เพื่อเป็นการป้องกันการโจมตีเบื้องต้น
แม้ว่า WordPress จะมีข้อเสียและข้อควรระวังในการใช้งานอยู่บ้าง แต่ด้วยข้อดีและคุณสมบัติที่โดดเด่นที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ก็ยังถือเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานในองค์กร เพื่อให้มั่นใจว่า WordPress จะสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย จำเป็นต้องศึกษาแนวทางป้องกัน WordPress จากการถูกโจมตีโดยแฮกเกอร์ในเบื้องต้น เพื่อให้การใช้งานมีความปลอดภัยสูงสุด
แนวทางเบื้องต้นในการป้องกัน WordPress Admin ของคุณจากการถูกแฮกผ่านการสุ่มรหัสผ่าน
ก่อนที่คุณจะติดตั้ง Plugin ใด ๆ ควรเริ่มต้นด้วยการป้องกันตามวิธีเหล่านี้เป็นอันดับแรก
- จำกัดการ Login ผิดพลาด โดยการตั้งค่าการจำกัดการใส่รหัสผิดพลาด โดยสามารถเลือกใช้ Plugin ในการช่วยตั้งค่าได้ เช่น Limit Login Attempt เป็นต้น
- ตั้งรหัสผ่านที่คาดเดาได้ยาก: รหัสผ่านควรประกอบด้วยตัวอักษรพิมพ์เล็ก พิมพ์ใหญ่ ตัวเลข และสัญลักษณ์ เช่น poiz8-2(WN}@4741la เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดโอกาสในการถูกสุ่มรหัสผ่าน
- หลีกเลี่ยงการใช้ Username ที่คาดเดาง่าย: ไม่ควรใช้ชื่อผู้ใช้งานอย่างคำว่า Admin ในการตั้ง Username ควรเลือกใช้ชื่ออื่นที่มีความซับซ้อนกว่าเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน WordPress
- เปลี่ยน URL หลังบ้าน (Change Admin URL): โดยปกติ URL ของหน้าเข้าสู่ระบบของ WordPress จะเป็น yourwebsite.com/wp-admin หรือ yourwebsite.com/wp-login.php ซึ่งเป็น URL ที่เป็น Default สำหรับ Login ในทุกเว็บที่ทำจาก WordPress ทำให้ถูก Scan เพื่อใช้ในการทำ โจมตีผ่านการสุ่มรหัสผ่านได้ง่าย การเปลี่ยน URL นี้เป็น URL ที่คาดเดายากขึ้นจะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกแฮกเกอร์โจมตีผ่านการสุ่มรหัสผ่าน วิธีการเปลี่ยน URL นี้สามารถทำได้ผ่านปลั๊กอิน เช่น WPS Hide Login หรือปลั๊กอินอื่น ๆ ที่มีฟังก์ชันนี้
- ใช้ Two-Factor Authentication (2FA): การใช้ 2FA เป็นการเพิ่มชั้นความปลอดภัยอีกขั้นหนึ่ง โดยจะต้องมีการยืนยันตัวตนสองขั้นตอนก่อนที่จะสามารถเข้าสู่ระบบได้ นอกจากรหัสผ่านแล้ว ผู้ใช้งานจะต้องยืนยันตัวตนผ่านอุปกรณ์อื่น เช่น รหัส OTP ที่ส่งมาทาง SMS หรือแอปพลิเคชัน 2FA เช่น Google Authenticator
- พิจารณาเลือกใช้ VPN ในการเข้าถึงระบบจัดการเนื้อหา โดยการกำหนด ให้สิทธิการเข้าถึง wp-admin ใน .htaccess File (Apache) หรือ nginx.conf (NGINX) เฉพาะ Local Network จากนั้นให้ทำการ VPN เข้ามาในเครือข่าย เพื่อเข้าถึงตัวจัดการเนื้อหา ซึ่งก็จะทำให้การโจมตีจากแฮกเกอร์ทำได้ยากขึ้น
การป้องกันในระดับพื้นฐานเหล่านี้ร่วมกับการเพิ่มความปลอดภัยขั้นสูงจะช่วยให้ WordPress Admin ของคุณปลอดภัยยิ่งขึ้นจากการถูกโจมตีผ่านการสุ่มรหัสผ่าน
นอกจากนี้การรู้ถึงสัญญาณเตือนที่บ่งชี้ว่าเว็บไซต์กำลังถูกคุกคามจะได้เข้าใจ และเรียนรู้วิธีป้องกันเบื้องต้นจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจชาชีพ
สัญญาณเตือนความเสี่ยงในการใช้งาน WordPress ที่คุณควรรู้
ข้อมูลจาก mywp.thekalling.com ได้รวบรวมความเสี่ยง และสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่า WordPress ของคุณกำลังผิดปกติไว้ด้วยกัน 10 ข้อ เพื่อเตรียมตัวและรับมือหากเกิดเหตุการเหล่านี้
- อัตราการเข้าชมลดลงอย่างกระทันหัน: อาจเกิดจากมัลแวร์ที่เปลี่ยนเส้นทางผู้เข้าชม หรือ Google’s safe browsing tool เตือนว่าเว็บไซต์ไม่ปลอดภัย
- มีลิงก์ไม่พึงประสงค์: แฮกเกอร์อาจเพิ่มลิงก์สแปมผ่าน Backdoor ใน WordPress
- หน้าแรกของเว็บไซต์เสียหาย: เป็นสัญญาณชัดเจนว่าเว็บไซต์อาจถูกแฮก
- ไม่สามารถล็อกอินเข้าสู่ระบบได้: แฮกเกอร์อาจลบบัญชีผู้ดูแลระบบของคุณ
- บัญชีผู้ใช้ที่น่าสงสัย: อาจเป็นสแปมที่แฮกเกอร์สร้างขึ้นเพื่อเข้าถึงระบบ
- ไฟล์และสคริปต์ไม่รู้จักบนเซิร์ฟเวอร์: แฮกเกอร์อาจวางมัลแวร์ในเซิร์ฟเวอร์ของคุณ
- เว็บไซต์ช้าลงหรือไม่ตอบสนอง: อาจเกิดจากการโจมตีแบบ DDoS หรือมัลแวร์
- ผลการค้นหาถูกแทนที่: อาจแสดงเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่เหมาะสม
- ปรากฏป็อปอัปโฆษณาแปลก ๆ: แฮกเกอร์อาจใช้เว็บไซต์ของคุณในการแสดงโฆษณาสแปม
- ไฟล์หลักของ WordPress เปลี่ยนแปลง: เป็นสัญญาณว่าเว็บไซต์อาจถูกแฮก
สำหรับการป้องกันและแก้ไข หากพบปัญหาเหล่านี้ ควรใช้เครื่องมือเพื่อสแกนความปลอดภัยของ WordPress เพื่อตรวจหาสิ่งบกพร่อง
โดยสรุป การนำ WordPress มาใช้กับองค์กรหรือธุรกิจนั้นสามารถทำได้อย่างปลอดภัย หากคุณหมั่นดูแล อัปเดตระบบ รวมไปถึงตรวจสอบปลั๊กอินที่ติดตั้ง อีกทั้งควรหมั่นตรวจสอบมัลแวร์หรือแอดมินที่น่าสงสัย เพื่อเป็นการป้องกันการถูกโจมตีอยู่เสมอ และคอยสังเกตถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเว็บไซต์ หรือจะใช้ตัวช่วย อย่างบริการ Web Monitoring บริการเฝ้าระวังเว็บไซต์แบบ Real-time ตลอด 24 ชั่วโมง จากทาง NT cyfence โดยไม่ต้องมีการติดตั้ง อุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์ใด ๆ ลงในระบบแค่เพียงแค่อนุญาตให้ระบบ Web Monitoring สามารถเข้าไปยังเว็บไซต์ของผู้รับบริการผ่านทาง Internet เท่านั้น ระบบพร้อมจะทำการ แจ้งเตือนหากเกิดเหตุการณ์ ผิดปกติกับหน้าเว็บไซต์ของคุณอย่างทันท่วงที เพียงเท่านี้เว็บไซต์องค์กรหรือบริษัทของคุณก็จะปลอดภัย และหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาก็สามารถแก้ไขได้ก่อนลุกลามบานปลาย
สำหรับผู้ที่สนใจบริการตรวจสอบระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) อื่น ๆ เพิ่มเติมให้กับองค์กรสามารถติดต่อ NT cyfence ได้ทาง https://www.cyfence.com/contact-us/ หรือโทร 1888 เรามีทีมงานผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำแนะนำ และเป็นที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยด้านสารสนเทศอย่างครบวงจรให้กับคุณ
ที่มา: teeneeweb , thehackernews , w3techs , hostatom , santumweb
บทความที่เกี่ยวข้อง