แกะรอยเส้นทางขายข้อมูลบัตรเครดิตตามเว็บใต้ดิน
16 พฤษภาคม 2019
การฉ้อโกงบัตรเครดิตเป็นอาชญากรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี ยังความสูญเสียแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าของบัตรฯ ผู้ค้าปลีกรวมถึงธนาคารผู้ออกบัตรฯ เอง
การขโมยข้อมูลบัตรฯ ทำได้หลายวิธี โดยเริ่มจากวิธีแบบดั้งเดิมคือ ผ่านเครื่องมือดูดข้อมูลบัตรรุ่นเก่าที่แอบติดตั้งไว้กับเครื่องอ่านข้อมูลแถบแม่เหล็กของบัตรฯ ที่เรียกว่า Skimming ที่พัฒนาอีกขั้นที่สามารถดูดข้อมูลบัตรที่ใช้ EMV Chip (บัตรรุ่นใหม่ฝัง Chip ที่สามารถสร้างรหัสทำรายการที่ไม่ซ้ำกัน ซึ่งต่างจากบัตรที่มีเพียงแถบแม่เหล็ก) ได้ ไปจนถึงการโจมตีจากมัลแวร์ที่แฝงเข้าสู่ระบบเพื่อดักจับข้อมูล ณ จุดชำระเงินของลูกค้าโดยตรง (POS Terminal Malware)
เมื่อเร็วๆ นี้ พบการโจมตีของมัลแวร์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อขโมยข้อมูลบัตรเครดิตของลูกค้าที่ซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่ใช้ Magento (ระบบ CMS ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการทำอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะ ) โดยแฮกเกอร์จะแฮกเว็บอีคอมเมิร์ซที่มีช่องโหว่แล้วแอบฝัง Code เพื่อดักจับข้อมูลบัตรเครดิตในหน้า Checkout โดยเมื่อลูกค้าได้กรอกข้อมูลบัตรฯ และคลิกทำรายการ ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังเว็บไซต์ของแฮกเกอร์ด้วยเช่นกัน
หลังจากที่แฮกเกอร์ได้ข้อมูลบัตรฯ ไปแล้ว จะมีหลายขั้นตอนต่างๆ ก่อนถึงมือผู้ซื้อ ดังนี้
- ข้อมูลบัตรฯ ทั้งหมดจะถูกนำมาแยกตามชื่อผู้ให้บริการชำระเงิน เช่น Visa และ Mastercard
- แฮกเกอร์มีเทคนิคในการป้องกันการสาวมาถึงตัวได้โดยการขายข้อมูลผ่านผู้ค้าคนกลาง (Reseller) หรือเครือข่ายผู้ค้าคนกลาง (Network of Resellers) โดยเน้นให้ผ่านหลายๆ มือ และใช้เงินดิจิทัลในการซื้อ-ขาย
- การซื้อ-ขายข้อมูลบัตรฯ มักถูกดำเนินการอย่างรวดเร็ว ก่อนเจ้าของบัตรฯ หรือธนาคารผู้ออกบัตรฯ จะรู้ตัว แต่ถึงแม้บัตรฯ บางใบอาจจะถูกยกเลิกโดยธนาคารไปแล้วก็ตาม แฮกเกอร์ก็ยังพอนำข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถระบุตัวตนได้ (Personally Identifiable Information; PII) ของเจ้าของบัตรฯ มาขายได้
- เมื่อผู้ค้าคนกลางซื้อข้อมูลมาจากแฮกเกอร์ ข้อมูลบัตรฯ จะถูกนำมาแยกอีกครั้งตามมูลค่าของบัตรฯ ที่พอประเมินได้ โดยหลักการ มีดังนี้
(1) วงเงินคงเหลือในบัตรฯ ที่พอระบุตัวเลขได้
(2) ข้อมูลส่วนตัวที่ติดมากับบัตรฯ เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร อีเมล์ และวันเกิด เป็นต้น
ตัวอย่างโพสโฆษณาขายข้อมูลบัตรเครดิตที่ระบุวงเงินคงเหลือแล้ว โดยมีการตั้งราคาขายอยู่ที่ 0.1195 BTC (Bitcoin) หรือเทียบเท่าประมาณ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ - หลังจากข้อมูลถูกส่งขายมาหลายทอด ผู้ค้าคนกลางจะเริ่มโพสโฆษณาขายข้อมูลบัตรฯ บนเว็บใต้ดิน มิจฉาชีพเมื่อเห็นโฆษณาที่ตรงความต้องการจะซื้อข้อมูลเพื่อนำบัตรฯ ไปใช้ซื้อสินค้าหรือถอนเงินสดออกมา
- เว็บใต้ดินมีรายได้จากค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากทุกธุรกรรมซื้อขายที่เกิดขึ้นจากผู้ค้าทุกราย
จะเห็นได้ว่าการขโมยข้อมูลบัตรเครดิตทำได้ไม่ยากนักหากแฮกเกอร์มีความเชี่ยวชาญและเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่ถูกโจมตีมีระบบรักษาความปลอดภัยที่อ่อนแอ เจ้าของบัตรฯ ไม่มีทางล่วงรู้ได้เลยว่าข้อมูลบัตรถูกขโมยไปเมื่อใด และจำนวนมากมักจะทราบว่าบัตรฯ ของตัวเองถูกนำไปใช้จ่ายก็ต่อเมื่อมีการแจ้งเตือนจากธนาคารผู้ออกบัตรฯ ซึ่งนั่นแปลว่าความเสียหายทางการเงินได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่เจ้าของบัตรฯ ก็ธนาคารผู้ออกบัตรฯ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นการป้องกันความเสี่ยงจากการใช้บัตรเครดิตจึงตกเป็นภาระที่เจ้าของบัตรฯ เองนั้น ต้องระมัดระวังในการใช้บัตร ด้วยตนเอง
แนวทางต่าง ๆ นี้เป็นสิ่งที่อาจจะช่วยป้องกันความเสียหายแก่เจ้าของบัตรฯ ได้
- ใช้บัตรเครดิตแทนการใช้บัตรเดบิต เนื่องจากบัตรเครดิตมีการคุ้มครองจากธนาคารในกรณีที่บัตรถูกขโมยนำไปใช้โดยผิดกฎหมาย
- เมื่อเลือกซื้อของจากเว็บอีคอมเมิร์ซ ให้เลือกเว็บที่มีการเข้ารหัสความปลอดภัยไว้ (Secure Socket Layer – SSL) เท่านั้น หากหน้า URL ของเว็บไซต์นั้นมีรูปกุญแจอยู่ด้านหน้า หรือมี “S” ตามหลัง http เป็น https ถือว่ามีความปลอดภัยพอสมควร บ้างก็จะมีสัญลักษณ์ VeriSign หรือ TRUSTe
- อย่าทำธุรกรรมภายใต้สภาพแวดล้อมสาธารณะ เช่น ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สาธารณะหรือร่วมกับผู้อื่น ถึงแม้จะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวก็ตาม อย่าเชื่อมต่อกับ WiFi สาธารณะโดยเด็ดขาด ให้เชื่อมต่อผ่านมือถือหรือ WiFi บ้านเท่านั้น หากจำเป็นต้องใช้ WiFi สาธารณะ ให้เชื่อมต่อผ่าน เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Network – VPN) ซึ่งข้อมูลจะถูกเข้ารหัสก่อนส่งไปยังปลายทางเพื่อเพิ่มความปลอดภัย
- เลี่ยงการทำธุรกรรมผ่านเว็บอีคอมเมิร์ซที่ให้เจ้าของบัตรฯ กรอกข้อมูลเลข 3 หลักหลังบัตร (CCV) ในหน้า Checkout เนื่องจากอาจจะมีการเก็บบันทึกลงบน Server ของเว็บฯ ได้ และข้อมูลสำคัญนี้ทำให้ธนาคารอนุมัติการใช้บัตรได้ทันทีหากหลุดรอดออกไป ให้เลือกทำธุรกรรมผ่าน Payment Gateway ของธนาคารผู้ออกบัตรฯ โดยตรงจะปลอดภัยกว่า
อ้างอิงที่มา :
บทความที่เกี่ยวข้อง