TikTok แค่บันเทิงหรือเป็นภัยความมั่นคงของชาติ?

24 สิงหาคม 2020

จิตต์สุภา ฉิน (ซู่ชิง)
จิตต์สุภา ฉิน (ซู่ชิง)ซู่ชิง จิตต์สุภา ฉิน บรรณาธิการ ผู้ดำเนินรายการ และคอลัมนิสต์ไอทีผู้คลุกคลีกับเทคโนโลยีมาตั้งแต่เกิดจนโต ซู่ชิงมองว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องของเราทุกคน และคนที่ได้เปรียบคือคนที่เข้าใจมันก่อนใคร

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างต่อพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของคนทั่วโลก ในขณะที่อุตสาหกรรมหลาย ๆ อย่างได้รับผลกระทบจนการทำธุรกิจต้องหยุดชะงักหรือแม้กระทั่งปิดตัวไป แต่ดูเหมือนกับว่าบริษัทเทคโนโลยีโดยเฉพาะรายใหญ่ ๆ ที่เป็นเจ้าของบริการและแพลตฟอร์มที่หลากหลาย นอกจากจะไม่ได้เดือดร้อนแล้ว โรคระบาดครั้งนี้ยังกลับกลายเป็นโอกาสผลักดันให้บริษัทเติบโตและสร้างรายได้ในอัตราที่รวดเร็วกว่าเดิมเสียอีก

COVID-19 วิกฤตของคนอื่น แต่เป็นโอกาสของ TikTok

หนึ่งในบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้งานก็คือ ByteDance บริษัทสัญชาติจีนเจ้าของแพลตฟอร์ม TikTok โซเชียลมีเดียในรูปแบบคลิปวิดีโอสั้น ๆ 15-60 วินาที ที่สามารถเลือกหยิบเพลงฮิตมาประกอบคลิปได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงล็อคดาวน์ที่คนแกร่วอยู่บ้านและต้องหากิจกรรมอะไรใหม่ๆ ทำ ก็คือเราค่อยๆ ทยอยเห็นเพื่อนของเราแชร์คลิปเต้นประกอบเพลงบน TikTok มาให้ได้เห็นอยู่เรื่อยๆ จนกลายเป็นการตั้งข้อสังเกตว่า “ช่วง COVID เพื่อนบนโซเชียลมีเดียของเราแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มทำอาหาร และกลุ่มเต้น TikTok”

ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในประเทศไทย เพราะในอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก TikTok ได้กลายเป็นโซเชียลมีเดียดาวรุ่งที่พุ่งแรงแทบฉุดไม่อยู่ แม้ว่าบริษัทจะไม่เคยประกาศตัวเลขจำนวนผู้ใช้งานออกมาตรง ๆ แต่ก็มีบริษัทวิเคราะห์ต่าง ๆ ที่ออกมาให้ข้อมูลว่าเฉพาะในเดือนมีนาคมแค่เดือนเดียวก็มียอดดาวน์โหลดแอป TikTok เพิ่มถึง 65 ล้านครั้ง และจากสถิติล่าสุดในปี 2020 คาดว่า TikTok มีผู้ใช้ที่เป็นแอคทีฟ ยูสเซอร์มากถึง 800 ล้านคนแล้ว แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ก็ยังต้องยอมเปิดแอคเคานท์ TikTok เพื่อเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัสโดยเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่ผู้ใช้งานวัยรุ่น เพราะนี่ถือเป็นผู้ใช้งานกลุ่มหลักของแพลตฟอร์มนี้

อินเดียปิดประตูใส่ TikTok

ทุกอย่างดูจะดำเนินไปด้วยดีจนกระทั่งต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา TikTok ก็ต้องประสบกับอุปสรรคครั้งใหญ่ เพราะรัฐบาลอินเดียประกาศแบนแอปพลิเคชัน TikTok พร้อม ๆ กับแอปพลิเคชันสัญชาติจีนอีกเกือบ 60 แอปฯ โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากความตึงเครียดที่บริเวณชายแดนซึ่งมีการปะทะกันระหว่างทหารอินเดียและทหารจีน ส่งผลให้ทหารอินเดียเสียชีวิตไปมากถึง 20 ราย โดยที่ไม่มีตัวเลขออกมาว่ามีทหารจีนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตไปเท่าไหร่

อินเดียโต้ตอบด้วยการแบนแอปพลิเคชันสัญชาติจีนออกจากตลาดอินเดียที่นับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดและมีศักยภาพสูงด้วยจำนวนประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน โดยที่ 50% ของประชากรอินเดียทั้งหมดเป็นกลุ่มที่เข้าถึงโลกออนไลน์ได้ ก่อนหน้าการแบนคาดกันว่าน่าจะมีคนอินเดียที่ใช้งาน TikTok อยู่มากถึง 120 ล้านคนเลยทีเดียว

สหรัฐฯ​ ลงดาบ แบน TikTok

ก่อนที่อินเดียจะแบน TikTok สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่จ้องจ่อจะแบนแอปฯ จีน แอปฯ นี้อยู่ก่อนแล้ว โดยเริ่มต้นด้วยการสั่งห้ามไม่ให้กองทัพติดตั้งแอปพลิเคชันนี้ลงบนดีไวซ์ใดๆ เด็ดขาด แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุดคือโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งพิเศษแบน TikTok แล้วเรียบร้อยและให้เวลา 45 วัน พร้อมยื่นเงื่อนไขว่าทางเดียวที่จะรอดพ้นการแบนได้ก็คือ ByteDance จะต้องขาย TikTok ให้กับบริษัทสัญชาติอเมริกันเท่านั้น ซึ่งก็มีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่หลายรายที่แสดงความสนใจในการเข้าซื้อกิจการแล้ว อย่าง Microsoft หรือ Oracle เป็นต้น

ภัยต่อความมั่นคงของชาติ

การสั่งแบนแอปฯ TikTok ในครั้งนี้ สหรัฐฯ ให้เหตุผลว่าเนื่องจาก TikTok (และ WeChat ที่ถูกแบนไปพร้อมๆ กัน) เป็นแอปฯ ของบริษัทจีน รัฐบาลจีนจึงสามารถบังคับให้บริษัทส่งมอบข้อมูลใด ๆ ที่มีให้แก่ทางการได้ด้วยการใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจจะถูกนำมาใช้เพื่อสอดแนมสหรัฐฯ​ ได้ ในขณะที่ ByteDance ก็ชี้แจงและยืนยันอย่างขันแข็งว่าข้อมูลทั้งหมดของผู้ใช้ในสหรัฐฯ ล้วนถูกเก็บอยู่บนแผ่นดินสหรัฐฯ​ และบริหารโดยทีมที่ประจำอยู่ในสหรัฐฯ​ ที่ ๆ อิทธิพลของรัฐบาลจีนแผ่ขยายมาไม่ถึง แต่รัฐบาลอเมริกันก็ปักใจเชื่อว่าตราบใดที่บริษัทแม่ยังอยู่ในจีน ต่อให้ปฏิบัติการอยู่นอกจีนก็ยังหนีไม่พ้นเงื้อมมือของรัฐบาลในปักกิ่งอยู่ดี

ภัยจริงหรือภัยสมมติ

แม้ว่าบรรดาผู้นำและผู้บริหารประเทศจะยืนยันแน่นหนักว่า TikTok เป็นภัยต่อความมั่นคง แต่ CNN ก็รายงานว่าผู้เชี่ยวชาญในแวดวงความปลอดภัยไซเบอร์ไม่ได้เห็นด้วยไปทั้งหมด พวกเขามองว่าอันตรายที่ถูกหยิบยกมาใช้เป็นข้ออ้างนั้นออกไปในแนวทางสมมติหรือเป็นไปในทางอ้อมมากกว่า และทรัมป์หยิบเอาประเด็นความมั่นคงของชาติมารวมเข้ากับการเจรจาทางการค้าในแบบที่ไม่เหมาะสม คล้าย ๆ กับกรณีการแบน Huawei ที่เกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้

ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานความปลอดภัยทางไซเบอร์บอกว่า จริงอยู่ที่ TikTok มีความเชื่อมโยงกับจีน และก็มีประเด็นเรื่องความปลอดภัยที่น่าเป็นห่วง แต่ท้ายที่สุดแล้วหากลองมองให้ลึก ๆ แอปฯ TikTok ไม่ได้มีข้อมูลอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อการสอดแนมขนาดนั้น

ข้อมูลต่าง ๆ ของผู้ใช้งานที่แอปพลิเคชันเก็บเอาไว้ พื้นฐานที่สุดก็คือตำแหน่งที่อยู่ เลข IP Address หรือข้อความที่ส่งภายในแอปฯ ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากโซเชียลมีเดียของบริษัทอื่น ๆ โดยรวมแล้วไม่ใช่ข้อมูลที่มีความอ่อนไหวขนาดนั้น หรือหากเก็บข้อมูลที่เป็นภัยไปได้จริง ก็ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลจีนจะเข้าถึงได้ง่ายขนาดนั้นอยู่ดี

ถ้าอย่างนั้น ภัยที่น่าห่วงคืออะไรกันแน่?

หากข้อมูลที่ TikTok เก็บไปไม่ได้อ่อนไหวขนาดที่จะเป็นเครื่องมือโจมตีความมั่นคงของชาติได้ แล้วอะไรคือภัยที่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายและสร้างความเสียหายได้มากกว่านั้น คำตอบก็คือ “อิทธิพล” ของ TikTok ที่มาจากการเผยแพร่เนื้อหาต่าง ๆ นั่นเอง

TikTok ถูกครหาว่าเป็นแพลตฟอร์มที่รับมือกับเนื้อหาบนแพลตฟอร์มของตัวเองได้ไม่ดีนัก ไม่สามารถจำกัดการแพร่กระจายของข้อมูลผิด ๆ และปกปิดเนื้อหาบางส่วนที่บริษัทไม่เห็นด้วย ในที่สุดก็อาจจะนำไปสู่การลดอิทธิพลและพลังอำนาจของสหรัฐฯ ลง ยังไม่นับรวมถึงการที่สหรัฐฯ มีความกลัวว่า TikTok จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอิทธิพลบางอย่างต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ​ ที่กำลังจะมีขึ้นในเร็ว ๆ นี้ด้วย

TikTok กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ความหวาดกลัวที่ว่าคือหากรัฐบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งาน TikTok ภายในสหรัฐฯ ได้ ก็อาจจะสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาศึกษาและวิเคราะห์เพื่อหาวิธีที่จะสร้างอิทธิพลอะไรบางอย่างต่อประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งและ “เหวี่ยง” ให้ผลลัพธ์เป็นไปในแบบที่ต้องการ คล้าย ๆ กับที่เคยมีข่าวว่ารัสเซียสร้างแคมเปญโซเชียลมีเดียเพื่อทำแบบนี้มาแล้วในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่มีข้อมูลเป็นที่แน่ชัดว่าหากจีนจะทำแบบนี้จริง ๆ ทิศทางไหนคือทางที่รัฐบาลจีนอยากจะเหวี่ยงให้ไปกันแน่

TikTok จีน และปัญญาประดิษฐ์

อีกหนึ่งความหวาดกลัวที่นอกเหนือไปจากการแทรกแซงการเลือกตั้งก็คือการที่จีนเป็นประเทศที่เอาจริงเอาจังเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยไม่มีกรอบข้อบังคับมากเท่ากับที่ประเทศอื่น ๆ ต้องเจอ ทำให้จีนสามารถใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลเข้ามาฝึกปัญญาประดิษฐ์ อย่างการใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีรู้จำใบหน้า หรือ Facial Recognition เพื่อนำมาระบุตัวตนของใครก็ตามได้ ซึ่งการที่ TikTok เป็นแอปที่มีข้อมูลใบหน้าคนที่แสดงออกอารมณ์ต่าง ๆ ที่หลากหลาย นับเป็นแหล่งทรัพยากรข้อมูลชั้นดีที่จะทำให้ปัญญาประดิษฐ์ของจีนเก่งกาจจนประเทศอื่น ๆ ไม่อาจทัดเทียม และสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือการที่จีนจะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศ

ผู้เดือดร้อนตัวจริงในขณะนี้

ไม่ว่าสาเหตุที่แท้จริงของการแบน TikTok หรือแอปพลิเคชันสัญชาติจีนอื่น ๆ จะมาจากความหวาดกลัวในด้านไหนมากที่สุด แต่การแบนก็ทำให้มีผู้เดือดร้อนและอาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นในอนาคต

นอกจาก TikTok จะเป็นแอปฯ ที่คนใช้เพื่อ “แก้เบื่อ” แล้ว แอปฯ นี้ก็ยังเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์มากมายให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปทั้งปล่อยของและเข้าไปหาแรงบันดาลใจที่หลากหลายได้ สำหรับผู้สร้างคอนเทนต์หลาย ๆ คน นี่คือแหล่งหารายได้อีกช่องทางหนึ่งที่นอกเหนือจากงานประจำที่ต้องทำในแต่ละวัน ผู้หญิงในชนบทของอินเดียจำนวนมากมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากค้นพบ TikTok เพราะทำให้พวกเธอสามารถแหกกรอบประเพณีเดิม ๆ ก้าวออกมาจากกิจวัตรประจำวัน และถ่ายทอดพรสวรรค์หรือไอเดียที่มีให้ผู้ใช้งานคนอื่น ๆ โดยสิ่งที่ได้รับตอบแทนมาก็คือการเปิดโลกของตัวเองให้กว้างขึ้นและรายได้เล็กๆ น้อยๆ ที่มีความหมายเป็นอย่างมากในการจุนเจือครอบครัว

อย่างไรก็ตาม คู่แข่งขันของ TikTok ก็ฉวยโอกาสนี้ในการหยิบฟีเจอร์ที่โดดเด่นของ TikTok เข้ามาใช้กับแพลตฟอร์มตัวเองและอาสาขอเป็นตัวเลือกให้กับผู้ใช้งาน แม้กระทั่งโซเชียลมีเดียดัง ๆ อย่าง Instagram หรือ Snapchat ก็ยังต้องรีบเข็นฟีเจอร์วิดีโอสั้นพร้อมเพลงประกอบออกมาให้บริการกันด่วน ๆ

แต่ผลกระทบระยะยาวในอนาคต โมเดลการแบนโซเชียลมีเดียบางประเภทออกจากประเทศของตัวเองจะทำให้อินเทอร์เน็ตแตกแยกออกเป็นส่วน ๆ คนในแต่ละพื้นที่จะเข้าถึงข้อมูลและบริการได้ไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลของประเทศตัวเองอนุญาตให้เข้าถึงอะไรได้บ้าง

ถึงในตอนนั้นความเสียหายคงไม่ได้เกิดขึ้นกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เกิดขึ้นกับเผ่าพันธุ์มนุษยชาติโดยรวมที่ไม่อาจพัฒนาไปข้างหน้าพร้อม ๆ กันได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

  • 25 ธันวาคม 2024

    ปัจจุบันระบบ AI (Artificial Intelligence) มีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมการผลิตหรือการขนส่ง รวมไปถึงในด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญมากขึ้น เมื่อเหล่าแฮกเกอร์นำเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้มาใช้โจมตีในรูปแบบต่าง ๆ เพราะ AI มีสามารถเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ วิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำในเวลาอันรวดเร็ว จากข้อมูลอ้างอิงของ Check Point, Tanium, Darktrace และ Palo[...]

  • 20 ธันวาคม 2024

    LinkedIn แพลตฟอร์มที่กำลังนิยมในขณะนี้ ปัจจุบันเริ่มกลายเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ทำ Phishing ซึ่งมีแนวโน้มว่าปี 2025 จะกลายเป็นเครื่องมือหลักที่แฮกเกอร์ใช้โจมตี

  • 18 พฤศจิกายน 2024

    การอัปเดตซอฟต์แวร์เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ แต่บางครั้งก็มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เครื่องมือบางชนิดของผู้ใช้งานเกิดความผิดพลาดได้