รู้เท่าทันภัยโซเชียล… เพราะเหยื่อคนต่อไปอาจเป็นคุณ

9 มกราคม 2018

อุมารัตน์ โพธิ์ชัย
อุมารัตน์ โพธิ์ชัยผู้จัดการส่วนมาตรฐานบริการความปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

ยุคดิจิทัลสามารถเชื่อมโยงผู้คนจากทั่วโลก ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Line หรือ YouTube โดยเชื่อมโยงข้อมูลส่วนตัว ประสบการณ์และข้อมูลต่างๆ ของเราไปยังเพื่อน ครอบครัว หรือบุคลอื่นๆ ได้สะดวกและรวดเร็ว

แต่อย่างไรก็ตามเหรียญย่อมมีสองด้านเสมอเมื่อมีด้านดี ก็ย่อมมีด้านร้าย ที่แฝงไปด้วยภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นกับข้อมูลส่วนตัวที่เรามี และได้แชร์ออกไปไม่ว่าจะเป็น รูปภาพ วีดีโอ รวมถึงความรู้สึกต่างๆ ในหลากหลายรูปแบบ แล้วเราจะมีแนวทางการรับมือต่อภัยคุกคามเหล่านี้อย่างไร ลองมาติดตามตามกันค่ะ

เล่ห์กลลวงบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค

1. เพราะศรัทธาและสงสาร

จะเห็นได้ว่าโลก Social มักจะอาศัยความสงสาร หรือใช้ความมีชื่อเสียงของนักร้อง นักแสดง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม แล้วนำมาแต่งเรื่องหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ
กลุ่มมิจฉาชีพจะปลอมบัญชีผู้ใช้ Facebook ของดาราเป้าหมายและเพื่อนดาราขึ้นมา พร้อม copy ข้อความต่างๆ ของที่ดาราได้แชร์ไว้ใน Instagram มาใส่ในบัญชีผู้ใช้ปลอมของดารา ให้เห็นว่ามีความเคลื่อนไหวเพื่อหลอกให้เหยื่อหลงเชื่อว่าเป็น Instagram ของดาราเป้าหมายจริงๆ และชักชวนกันร่วมทำบุญ โดยโอนเงินมายังเลขที่บัญชีธนาคารของมิจฉาชีพ

ขอบคุณภาพจาก kapook.com (https://women.kapook.com/view174278.html)

เราจะเห็นได้ว่าช่องทางของความศรัทธาและความสงสารที่เหล่ามิฉาชีพใช้นั้น ยังมีรูปแบบการหลอกลวงอีกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งโครงการรับบริจาคค่ารักษาพยาบาลสัตว์ หรือโครงการรับบริจาคเพื่อเด็กพิการ เป็นต้น ดังนั้นอย่าให้ความศรัทธาและความสงสารย้อนกลับมาทำร้ายเรา ที่สำคัญที่สุด ตรวจเช็คให้มั่นใจก่อนแชร์ข่าว ไม่งั้นเราอาจเป็นช่องทางการกระจายข่าวลวงได้

2. ความรักเป็นเหตุ

ขบวนการแก๊งหาคู่ต่างชาติ ที่มักจะใช้ภาพที่มีหน้าตาสวย หล่อ เพื่อต้มตุ๋นที่หวังว่าจะเปลี่ยนชีวิตได้แฟนเศรษฐี มีชีวิตหรูหราในต่างประเทศ แต่มักจะถูกหลอกให้เสียใจ เสียเงินหรือเสียตัวในที่สุด โดยเทคนิคที่มิจฉาชีพจะจีบสาวผ่าน Facebook หรือโปรแกรมหาเพื่อน หากแชทผ่านวีดีโอคอลก็จะทำแบบแว้บๆ เพื่อไม่ให้เห็นหน้าจริงแล้วบอกว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ค่อยดีจึงโพสต์วีดีโอที่แอบตัดต่อไว้แล้วแทน พร้อมสร้างนิยายให้ดูน่าสงสาร อกหักจากคู่รักทิ้งไป เลยอยากหาคู่แท้ที่รักจริงเมื่อถึงระยะเวลาที่เหยื่อหลงเชื่อก็จะส่งของมีค่าต่างๆ เช่น โทรศัพท์ สร้อยเพชร มาให้แต่ว่าของขวัญที่จะส่งมาให้ต้องจ่ายภาษีหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ และหลอกให้เหยื่อโอนเงินดังกล่าวไปให้เพื่อจะได้รับของขวัญก้อนโต บางรายมีเดินทางมาหาพร้อมหลอกมีเซ็กส์และบินกลับไป แล้วไม่ติดต่อกลับมาอีกด้วยเหตุผลที่สร้างขึ้นมาร้อยแปด

ขอบคุณภาพจาก http://www.komchadluek.net/news/crime/159344

ภัยแบบนี้ต้องระวังการพยายามสร้างเรื่องให้เรากลายเป็นเจ้าหญิงในนิยาย จนตกหลุมรัก ดังนั้นการตกหลุมรักใครอย่างรวดเร็ว ไม่รู้ที่มาที่ไปคนของที่กำลังคุยด้วย รวมถึงถ้าต้องโอนเงินยิ่งต้องเริ่มสงสัยการกระทำ และหากพยายามรีบอยากมาหาก็ยิ่งต้องสงสัยมากขึ้นอีก แม้รักแท้จากโซเชียลที่เป็นข่าวอาจจะมีอยู่จริง แต่แก๊งต้มตุ๋นก็มีอยู่มากทีเดียว จึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องระวังเช่นกัน

3. ลงทุนน้อยกำไรงาม

ธุรกิจขายฝันลงทุนน้อยกำไรงามในระยะเวลาอันสั้น ที่ได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ เมื่อครบวันก็จะคืนเงินทุนพร้อมดอกเบี้ย ทำจนเหยื่อหลงเชื่อแล้วก็หายตัวไปพร้อมเงินมหาศาล ที่มีหลากหลายรูปแบบเช่น

ขอบคุณภาพจาก thairath.co.th | https://www.thairath.co.th/content/494631

  • แชร์ลูกโซ่แอบขายตรงของ UFUN ที่เกิดความเสียหายหลายพันล้าน ที่มีการจดทะเบียนกับ สคบ. อย่างถูกต้องแต่กลับไม่ได้ทำธุรกิจตามที่แจ้งไว้ รวมทั้งยังมีการ การลงทุน UFUN ที่ใช้เงินสกุล USD และใช้ U Token Cash แทนสกุลเงินปกติ เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและเงินตราบนโลกออนไลน์
  • นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเปิดเฟสบุคชื่อว่า “กลุ่มรับทรัพย์” แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น “บ้านเลขที่ 5” เชิญชวนสมาชิกร่วมลงทุนหุ้นละ 100 บาท ลงทุนแล้วจะได้ผลตอบแทนร้อยละ 3 ต่อสัปดาห์ เมื่อครบวันก็จะคืนเงินทุนพร้อมดอกเบี้ย เหยื่อลงทุนเมื่อเห็นผลกำไรและได้เงินคืนจริงๆ ก็จะลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้นมิจฉาชีพก็หายตัวไปพร้อมกับเงินของผู้เสียหายมหาศาล
  • กองทุนสวัสดิการเพื่อชีวิตสมาชิก 888 ที่ชักชวนชาวบ้านสมัครเป็นสมาชิก ในการจ่ายเงินสมทบกองทุนสวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์รายเดือนโดยมีค่าสมัครครั้งแรก 1,100 บาท จากนั้นจ่ายเป็นรายเดือนๆ ละ 100 บาท เมื่อครบ 180 วัน จะได้เงินค่าฌาปนกิจศพ 100,000 บาทหากครบ 2-5 ปีจะได้บวกเพิ่มปีละ 100,000 – 500,000 บาท หากสมทบเงินครบ 6 ปีขึ้นไปจะได้รับเงิน 1,000,000 บาท

หลายคนอาจจะสงสัยทำไมถึงได้โดนหลอกทั้งๆ ที่มีข่าวสารแจ้งให้รู้เกี่ยวกับภัยเหล่านี้มากมาย นั้นก็เพราะการหลอกลวงแบบนี้เป็นการใช้ความโลภที่เป็นเหมือนกิเลสพื้นฐาน และยังมีรูปแบบหลากหลายมาก ทั้งแชร์ลูกโซ่ ลงทุนหุ้น กองทุน ขายรถ ขายสินค้าคอร์สสัมมนา ไปจนกระทั่งฌาปณกิจสงเคราะห์ โดยสามารถลงทุนในจำนวนเงินหลักร้อยแต่ได้หลักพัน-หมื่นในเวลาอันสั้น ด้วยกลยุทธ “ขายไม่เป็นไม่เป็นไร เดี๋ยวมีคนช่วยขายและหาลูกค้าให้”, “ไม่มีความรู้ไม่เป็นไรเดี๋ยวมีคนช่วยดำเนินการให้”,  “ไม่มีเงินไม่เป็นไร มีญาติพอหยิบยืมก่อนไหม” หรือมีทรัพย์สินเช่นรถ ทองสามารถจำนำมาลงทุนก่อนได้ แถมยังใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงแต่ละอาชีพเป็นการยืนยันความน่าเชื่อถือในการลงทุน พร้อมด้วยภาพยืนยันผู้ลงทุนที่ประสบความสำเร็จได้ไปเที่ยวทริปหรู มีรถ Super Car ขับ

ดังนั้นมิจฉาชีพจึงยังคงอยู่ได้โดยอาศัยช่องทางแห่งความโลภ หากเรายังเชื่อว่าการลงทุนที่ไม่ต้องใช้ความรู้แต่ได้เงินมาง่ายๆ ภัยรูปแบบนี้ก็ยังคงอยู่ต่อไป

4. นักท่องเที่ยวระวังโดนเท

จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่นาน เทศกาลซากุระบานโอซากาที่ญี่ปุ่นบริษัท WealthEver ที่บินตรงจากกรุงเทพ-โอซากา แบบเช่าเหมาลำ ลอยแพนักท่องเที่ยวที่หลงเชื่อกว่า 2,000 คนที่สนามบินสุวรรณภูมิ คงเป็นข่าวใหญ่ที่หลายคนเคยได้ยิน เป็นรูปแบบแชร์ลูกโซ่ท่องเที่ยว ที่ชักชวนให้เป็นสมาชิกและซื้อสินค้าในราคาเพียง 8,000 บาท จะได้ตั๋วเครื่องบินเที่ยวโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลลวงใช้เงินจำนวนน้อยหลอกล่อให้เหยื่อหลงเชื่อ

ขอบคุณภาพจาก www.bangkokbiznews.com | http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/750059

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบกลโกงการท่องเที่ยวอีกมากมาย เช่น บริษัทขายตั๋วเครื่องบินปลอมในราคาถูกที่จ่ายเงินจริงแต่ไม่ได้บินที่พร้อมหลอกทั้งนักท่องเที่ยว หรือทัวร์ปลอมกรณีหมอตุ๋นหมอ หลอกให้มาลงหุ้นลงทุนบริษัททัวร์กว่า 64 ล้านบาทพร้อมอ้างกลยุทธที่ได้รับผลตอบแทนสูง ทำให้ผู้คนจากหลากหลายอาชีพที่มีหน้ามีชื่อเสียงในสังคม ตกเป็นเหยื่อของการหลอกให้ร่วมลงทุน

ดั้งนี้ควรเลือกซื้อทัวร์ที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่ถูกต้อง โดยสามารถตรวจสอบได้ที่ www.tourism.go.th พร้อมดูวัน เดือน ปี ในใบอนุญาต ซึ่งจะมีอายุ 2 ปี มีสถานที่ตั้งบริษัทนำเที่ยวที่ชัดเจน รวมถึงการเลือกซื้อทัวร์จากเว็บไซต์ควรเลือกเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือได้ ที่มีการระบุราคาและรายละเอียดแพ็กเกจที่ชัดเจน ไม่งั้นจะกลายเป็นชโงกทัวร์ และควรเก็บเอกสารชำระเงินไว้เป็นหลักฐาน ที่สำคัญให้สังเกตแพ็กเกจราคาที่สูงมากเกินหรือถูกมากไป อย่าเพิ่งรีบตัดสินใจซื้อ โดยอาจลองค้นหาข้อมูลจากราคาโรงแรมที่พัก ราคาร้านอาหารตามที่แพ็กเกจได้แจ้งไว้ และต้องระวังอย่าหลงเชื่อการโฆษณาของทัวร์ที่เกินจริง จะทำให้เสียทั้งเงิน และเสียรู้เพราะหลงเชื่อทัวร์ราคาถูกอีกด้วย

ทริคเล็กๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในโลก Social

เกร็ดความรู้ที่จะช่วยให้เราท่องโลกโซเชียลให้ปลอดภัย ที่เราทุกคนสามารถทำได้

  • คิดให้รอบคอบ อย่าหลงเชื่ออะไรง่ายๆ
  • “คิดก่อนคลิก” ที่จะดาวน์โหลดโปรแกรม หรือ เอกสารใดๆ
  • อย่าบอกหรือระบายทุกอย่างใน Social เช่น สัปดาห์นี้ไปเที่ยวเชียงใหม่ มิฉาชีพอาจย่องมาบ้านอย่างสบายใจ
  • อย่าแชร์ข้อมูลสุ่มเสี่ยงความเป็นส่วนตัวให้ใครรู้ อย่าง บัตรประชาชน พาสปอร์ต บอร์ดดิ้งพาส ถ้าต้องแชร์จริงๆ ก็แชร์เฉพาะกลุ่ม
  • คัดกรองกลุ่มเพื่อนในโลก Social
  • เปิดใช้งาน Share Location เท่าที่จำเป็น
  • ระวังการใช้ Wifi Free ในที่ต่างๆ กลุ่มแฮกเกอร์อาจใช้เครื่องมือล้วงข้อมูลที่สำคัญเราไปได้
  • ตั้งค่าความปลอดภัยไว้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นที่โทรศัพท์ที่มั่นคอย update หรือใน Facebook ควรตั้งค่าความปลอดภัยไว้ก่อนเสมอ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/help/379220725465972)
  • ควรเปลี่ยนรหัสผ่านที่ปลอดภัย อย่างน้อยทุกๆ 3 เดือน

ทั้งนี้หากไม่แน่ใจสามารถสอบถามหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สายด่วน 1212 ที่รับแจ้งเบาะแสเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นต้น เพียงเท่านี้เราก็สามารถอยู่อย่างปลอดภัยในโลกโซเชียล

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

  • 25 ธันวาคม 2024

    ปัจจุบันระบบ AI (Artificial Intelligence) มีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมการผลิตหรือการขนส่ง รวมไปถึงในด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญมากขึ้น เมื่อเหล่าแฮกเกอร์นำเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้มาใช้โจมตีในรูปแบบต่าง ๆ เพราะ AI มีสามารถเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ วิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำในเวลาอันรวดเร็ว จากข้อมูลอ้างอิงของ Check Point, Tanium, Darktrace และ Palo[...]

  • 20 ธันวาคม 2024

    LinkedIn แพลตฟอร์มที่กำลังนิยมในขณะนี้ ปัจจุบันเริ่มกลายเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ทำ Phishing ซึ่งมีแนวโน้มว่าปี 2025 จะกลายเป็นเครื่องมือหลักที่แฮกเกอร์ใช้โจมตี

  • 18 พฤศจิกายน 2024

    การอัปเดตซอฟต์แวร์เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ แต่บางครั้งก็มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เครื่องมือบางชนิดของผู้ใช้งานเกิดความผิดพลาดได้