โลกออนไลน์ดีแต่มีความเสี่ยง

29 กรกฎาคม 2016

กวิสรา ปัทมสูต
กวิสรา ปัทมสูตBlogger สาวแห่ง www.droidsans.com และผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ไอทีหลายรายการ และยังเป็นคนที่หลงไหลระบบปฎิบัติการ Android จนได้ชื่อจากคนในวงการไอทีว่า “เจ้าหญิงแอนดรอยด์”

ปัจจุบันนี้เราอยู่ในยุคดิจิตอลที่มีสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ต บวกกับมีอินเทอร์เน็ตก็สามารถเชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกันได้ทั้งการค้นหาข้อมูล การเสพสื่อ ไปจนถึงการทำธุรกรรมทางการเงิน แม้จะดูว่าโลกออนไลน์สะดวกสบายและง่ายกว่าเพราะทุกอย่างจบได้แค่ปลายนิ้วแต่ในความสะดวกนั้นอาจจะไม่ได้มีแต่ด้านดีเสมอไป เพราะทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ โลกออนไลน์เองก็เช่นกัน เพราะยิ่งมีการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นเท่าไหร่สถิติอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ก็มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งภัยเหล่านี้ก็มาในหลากหลายรูปแบบเลยล่ะ

ภัยอย่างแรกเกิดจากการค้นหาอะไรก็ได้ อยากรู้อะไรก็แค่พิมพ์หา เอาง่ายๆ ก็คือ “ภาวะข้อมูลล้น ดูเหมือนเล็กแต่ก็ไม่น้อยและไม่ควรมองข้ามนะ! หลายๆ คนอาจจะยังงงๆ อยู่ว่าภาวะข้อมูลล้นคืออะไร? มันเป็นภาวะที่เราเข้าใจประเด็นและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้ยากเพราะว่ามีข้อมูลมากเกินไป ทำให้ความแม่นยำในการคาดการณ์ลดลงแถมยังส่งผลในแง่ลบต่อด้านอารมณ์ด้วย

หรือเคยเจอไหมคะว่าบางทีข้อมูลที่เราหามาในเรื่องเดียวกันนั้นกลับไม่ตรงกัน หรือบางข่าวที่เราแชร์เชื่อและแชร์ กลับกลายเป็นข่าวมั่ว เรื่องพวกนี้เกิดได้ง่ายขึ้นมากในยุคนี้ เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆ ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ก็สามารถเขียนหรือสร้างเนื้อหาได้ ทำให้มีคนป้อนข้อมูลมากมาย แต่ในทางกลับกันกลับมีคนกลั่นกรองหรือคอยตรวจสอบน้อยจนอาจนำมาซึ่งความเข้าใจผิดและอาจจะทำให้เกิดแตกตื่นได้ ยกตัวอย่างเช่นการแชร์ข่าวเรื่องลูกชิ้นที่ทำจากเนื้องู หรือการแชร์ข่าวเรื่องน้ำท่วมที่เกินจริงที่ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดและแตกตื่นเป็นต้น

ข่าวหลอกเรื่องลูกชิ้นที่ทำจากเนื้องู

ซึ่งทางแก้ง่ายๆ ของภาวะนี้ก็คือการตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่าข้อมูลนั้นเป็นจริงไหม ถูกต้องหรือเปล่า มีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือหรือไม่และอย่าตกใจง่ายๆ กับพาดหัวข่าวค่ะ

นอกจากนี้ภัยที่คนพบมากๆ และก็เป็นข่าวผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยๆ ก็คือการโดนหลอกลวงผ่านทางโลกออนไลน์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางสื่อโซเชียลต่างๆ โดยมีตั้งแต่การหลอกลวงจากข้อมูลของตัวผู้ใช้งานเอง เช่นการโพสต์ข้อมูลส่วนตัวลงใน Facebook แบบไม่ได้ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว ทำให้ใครๆ ก็ได้ และแน่นอนรวมถึงมิจฉาชีพ สามารถเข้ามาดูเรื่องราวและความเป็นไปของเราได้ง่ายๆ มิหนำซ้ำหลายๆ คนยังชอบเช็คอินสถานที่ทุกแห่งที่ไปไม่เว้นแม้แต่บ้าน โดยที่อาจจะไม่ฉุกคิดว่าข้อมูลเหล่านี้อาจจะนำภัยมาสู่ตัวได้เพราะหากมิจฉาชีพรู้ว่าบ้านคุณอยู่ไหน ไปเที่ยวต่างจังหวัดวันไหนแค่นี้เขาก็ตามไปยกเค้าได้แล้วนะ!

อีกประเด็นคือการหลอกลวงจากบุคคลอื่น อย่างเช่นการหลอกลวงเวลาซื้อของผ่านเน็ต ทั้งการให้สินค้ามาไม่ตรงกับที่สั่ง, การไม่ยอมส่งสินค้าหลังการโอนเงิน และการหลอกลวงเพื่อประสงค์ทรัพย์ อย่างเช่นที่เคยมีข่าวมิจฉาชีพใช้วิธีแชตผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์คเพื่อหลอกผู้หญิงให้เชื่อว่าจะแต่งงานด้วยแล้วขอให้โอนเงินเพื่อช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนตัว เป็นต้น

การแชร์คลิปหลุดดารา ที่กดมาเป็นติดไวรัส

อ้อ! อีกอย่างที่ต้องระวังเวลาท่องเน็ตเข้าไปดูข้อมูลบน Facebook ก็คือ ลิงค์ที่คนอื่นแชร์มา นะ! เพราะมีกรณีที่แฮกเกอร์ปลอมแปลงอะไรบางอย่างขึ้นมาแล้วส่งมาให้เหยื่อที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์หลงเชื่อแล้วคลิก เช่น ส่งหรือแชร์ลิงค์ที่มีหัวข้อน่าสนใจให้เหยื่อเปิด แทนที่จะเป็นเนื้อหาตามหัวข้อแต่กลับกลายเป็นได้ไฟล์มัลแวร์มาแทนก็มี อย่างก่อนหน้านี้ก็มีการแชร์คลิปหลุดดารา ที่กดมาเป็นติดไวรัสแทนได้นะ

โดยรวมแล้วการโดนหลอกแบบนี้เป็นสิ่งที่เราต้องป้องกันไว้ดีกว่าแก้ โดยวิธีการง่ายๆ เลยคือเราต้องใช้โซเชียลอย่างมีสติ เมื่อรู้แล้วว่าอะไรจะนำไปสู่อันตรายแบบไหนได้บ้างก็ต้องคิดก่อนโพสต์ให้มากๆ อย่าแชร์ข้อมูลส่วนตัวหรือภาพที่เป็นส่วนตัวมากๆ ลงไปเพราะสุดท้ายมันอาจจะไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวของเราอย่างที่คิด รวมถึงการตั้งค่าความปลอดภัยก็เป็นเรื่องสำคัญว่าจะให้ใครเห็นโพสต์ไหนได้ได้บ้าง โพสต์ไหนเปิดเป็นสาธารณะได้ โพสต์ไหนไม่ควร และสุดท้ายอย่างเชื่อใจใครง่ายๆ ควรจะมีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบุคคลหรือร้านค้าต่างๆ ก่อนเสมอด้วยนะ

นอกจากนี้ ภัยจากผู้ไม่ประสงค์ดีก็เป็นสิ่งที่ต้องพึงระวังอย่าง ภัยจากการถูกขโมยชื่อผู้ใช้งานหรือรหัสผ่านบัญชีออนไลน์”  ซึ่งนอกจากการแฮกบัญชีการใช้งานต่างๆ เพื่อไปโพสต์ในฐานะเสมือนเป็นเจ้าของตัวจริงที่อาจเป็นโพสต์ก่อความเสียหายให้เจ้าของตัวจริงหรือไปหลอกลวงคนอื่นๆ แล้วยังรวมไปถึงการขโมยเงินจากบัตรเครดิตด้วย

Facebook ปลอม

โดยการหลอกลวงเช่นนี้ก็มีวิธีการที่หลากหลายมากๆ เช่นการ Phishing หรือการหลอกลวงขอข้อมูลสำคัญด้วยการสร้างหน้าเว็บไซต์ปลอมที่เหมือนมากๆ ขึ้นมาให้เราสับสนและหากไม่ได้สังเกตดีๆ เราก็จะกรอกข้อมูลส่วนตัวลงไปให้แฮกเกอร์อย่างง่ายดายเลย อย่างเช่นที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่ามีเว็บไซต์ Facebook ปลอมที่ต่างกับของจริงที่ URL และสัญญลักษณ์แม่กุญแจซึ่งถ้าไม่เอ๊ะใจแล้วลองสังเกตดีๆ ก็จะแทบแยกไม่ออกกันเลยทีเดียว

online-is-good-but-have-risk-04

การป้องกันที่ดีที่สุดของประเด็นนี้ นอกจากการช่างสังเกตดูชื่อดูสัญญลักษณ์ลูกกุญแจที่หน้า URL เพราะมันแสดงว่าเว็บไซต์นั้นๆ มีการเข้ารหัสระบบรักษาความปลอดภัยเอาไว้แล้ว ก็ควรใช้การยืนยันตัวตนแบบสองขั้นตอนเพื่อให้ยากต่อการแฮกข้อมูลมากขึ้น รวมถึงการตั้งรหัสผ่านที่แข็งแรงและคอยเปลี่ยนรหัสอยู่เสมอๆ จะได้ลดความเสี่ยงลงไป นอกจากนี้ในหลายๆ แอพโซเชียลยังให้เราสามารถผูกการแจ้งเตือนกับอีเมลที่ใช้สมัครเพื่อส่งข้อความมาเช็คว่าตอนนี้มีการ log in เข้าใช้งานในบัญชีของเราเมื่อไหร่ ใช่เราจริงๆ ไหม? ซึ่งก็เป็นอีกทางที่ช่วยแจ้งเตือนเพื่อเพิ่มความมั่นใจได้เช่นกันค่ะ

การติดมัลแวร์จากการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเถื่อน

และภัยประเภทสุดท้ายที่จะว่าไปก็เกิดจากแฮกเกอร์เหมือนกันแต่ก็มาจากการที่เขารู้ดีว่านิสัยของคนทั่วโลกนั้นเหมือนกันคือชอบ ของฟรีหรือการชอบความสะดวกจนเกินไป นั่นคือการติดมัลแวร์จากการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเถื่อน, การโหลดหนัง-เพลงแบบผิดลิขสิทธิ์ตามอินเทอร์เน็ต, การโหลดแอพไฟล์ .apk นอก Google Play Store ไปจนถึงการเชื่อมต่อ Wi-Fi สาธารณะที่เรามักจะลองหาใช้งานกันเวลาไปตามร้านกาแฟเพราะฟรีและสะดวกดี แต่อย่าลืมนะคะว่าในหลักความเป็นจริงแล้วโลกเราไม่มีอะไรฟรีหรอกค่ะ มันย่อมต้องแลกมาด้วยอะไรบางอยย่างทั้งนั้นและในกรณีนี้คือ ความปลอดภัย ของคุณเอง!

แล้ว มัลแวร์  มันคืออะไร ทำไมถึงต้องระวังน่ะเหรอ? จริงๆ แล้วมันมีความร้ายแรงหลากหลาย แล้วแต่เป้าประสงค์ของแฮกเกอร์นะคะ แต่รวมๆ แล้วมันคือโปรแกรมประสงค์ร้ายที่ทำงานโจมตีระบบทำให้ระบบเสียหาย รวมไปถึงการโจรกรรมข้อมูลในเครื่องของเราด้วย และมัลแวร์นั้นแบ่งย่อยได้เป็นหลายประเภท เช่น ไวรัส เวิร์ม และ โทรจัน เป็นต้น มัลแวร์พวกนี้มันมาจากการที่เรายินยอมโหลดหรือติดตั้งสิ่งเหล่านั้นเองก่อนที่จะย้ายตัวเข้ามาอยู่ในเครื่อง มาดักข้อมูลของเราแล้วแอบส่งกลับไปให้แฮกเกอร์ผู้สร้างมัลแวร์ บางตัวก็สร้างค่าใช้จ่ายจากการใช้งานโทรศัพท์ของเรา หรืออาจจะทำความรำคาญให้เรา เช่นการมี pop up โฆษณาเด้งขึ้นมาเป็นต้น

เมื่อเหตุเกิดจากเรา ดังนั้นการป้องกันจึงต้องอยู่ที่เราจะต้องไม่ไปเอาของที่มีความเสี่ยงเข้ามาใส่เครื่องตั้งแต่แรก รวมถึงในส่วนของ Wi-Fi สาธารณะเองก็ต้องระมัดระวังเพราะอาจมีอาชญากรที่พยายามปล่อยสัญญาณโดยตั้งชื่อเหมือนกันชื่อบริษัทที่ให้บริการทั่วไปเพื่อหลอกให้เราตายใจและไปเชื่อมต่อ Wi-fi แล้วแอบหลอกดูดข้อมูลเราไปด้วย หากเราหลีกเลี่ยงที่ใช้ Wifi ไม่ได้จริงๆ ก็ควรใช้บริการ Wi-Fi สาธาณะ จากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้นนะคะ

online-is-good-but-have-risk-05

 

จากสิ่งที่เล่ามาทั้งหมดเนี่ย จะเห็นว่าภัยบนโลกออนไลน์นั้นมีหลากหลายรูปแบบมากนะคะ แต่ละแบบก็สร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้งานอย่างเราๆ ได้ไม่มากก็น้อย แต่ที่สำคัญที่สุดเลยคือภัยในทุกๆ รูปแบบนั้นจะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของตัวผู้ใช้งานเป็นหลักว่าเลือกที่จะโหลด เลือกที่จะเชื่อ เลือกที่จะโพสต์อย่างไร เชื่อว่าเมื่อเห็นช่องทางความเสียงแต่ละรูปแบบที่อาจจะเกิดขึ้นแบบนี้แล้วทุกๆ คนน่าจะได้ระมัดระวังการใช้งานโลกออนไลน์ให้มากขึ้นและจงจำไว้ว่าการใช้งานให้ปลอดภัยสุดท้ายแล้วคือเราต้องใช้งานอย่างมีสติและรู้ตัวอยู่เสมอนะคะ :]

บทความที่เกี่ยวข้อง