สรุปสถิติภัยคุกคามประจำปี 2564 จาก ศูนย์ปฏิบัติการ CSOC ของ NT cyfence

18 กุมภาพันธ์ 2022

จารุณี กัมพลาวลี
จารุณี กัมพลาวลีทำงานด้าน IT security ชอบติดตามข่าวสารด้านความปลอดภัย และ พร้อมดูแลความปลอดภัยให้หัวใจของทุกคน การันตีด้วย certificate ด้านความใส่ใจ

ผ่านไปแล้วอีกปี กับการโจมตีของภัยคุกคามทางไซเบอร์ ในปี 2021 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่แสนหนักหน่วงไม่แพ้ปี 2020 เรามาย้อนดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ว่ามีภัยคุกคามใดที่เกิดขึ้นบ้าง เพื่อเรียนรู้จากอดีตและนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น 

ในปี 2021 นั้นนับได้ว่าเป็นปีแห่งเทคโนโลยีและ Cybersecurity ภัยคุกคามต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber Attack) ข้อมูลลูกค้า/องค์กร  หลุดสู่สาธารณะ (Data Breach) รวมถึงการละเมิดความเป็นส่วนตัว การหลอกลวงจากการฟิชชิ่ง (Phishing) หรือแม้แต่ช่องโหว่ Zero Day ที่เกิดขึ้นแทบทุกวัน

คงจะปฎิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งนั้นมาจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ที่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต รวมถึงรูปแบบในการปฏิบัติงานหลายบริษัท/องค์กร ต้องผลักดันให้เกิดการทำงานจากระยะไกล (Remote work) เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้คนใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์นานขึ้น และอาจรวมไปถึงการปรับตัวตามเทรนด์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปของเหล่าอาชญากรไซเบอร์ด้วยเช่นเดียวกัน

NT cyfence ผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้รวบรวมข้อมูลสถิติภัยคุกคามที่อาจส่งผลกระทบกับระบบ IT  จากศูนย์ปฏิบัติการ Cyber Security Operation Center (CSOC) ของ NT cyfence ในปี 2021 ที่ผ่านมา โดยสรุปได้ดังต่อไปนี้

5 อันดับภัยคุกคามแบ่งตามประเภท incident

ประเภทภัยคุกคาม อ้างอิงตามเอกสาร ECSIRT.net project on cooperation and common statics.

Intrusion Attempts

แบ่งย่อยลงไปดังนี้

  • Exploit Vulnerability

เป็นพฤติกรรมที่มีการพยายามใช้ช่องทางต่าง ๆ โจมตีมายังเป้าหมาย อาจเป็นช่องโหว่ของระบบปฏิบัติการ แอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่เพิ่งมีการค้นพบ หรือเป็นช่องโหว่เดิมที่มีอยู่ในระบบ หากเป้าหมายไม่ได้ทำการปิดช่องโหว่หรือแก้ไขก็อาจตกเป็นเหยื่อได้ รวมถึงการพยายามเข้าถึงเครือข่ายจาก IP ต้องสงสัย การเปิด Known Port โดยไม่จำกัดการเข้าใช้งาน เมื่อมีข้อมูลเหล่านี้แล้ว Hacker จะทดลองเจาะเข้ามายังเครือข่าย ดังนั้น การหมั่นปรับปรุงระบบเพื่อปิดช่องโหว่เหล่านี้ให้ได้มากที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญเสมอ

  • Login Attempt

สาเหตุหลักยังคงมาจาก Human Error หรือเกิดจากตัวผู้ใช้งาน อาทิ การลืมรหัสผ่าน การจดจำ User และ Password ไว้ในระบบแล้วไม่ได้ Update เมื่อทำการเปลี่ยนรหัสผ่าน ฯลฯ ภัยคุกคามชนิดนี้จะยังไม่มีอันตรายแต่อาจทำให้เกิดความน่ารำคาญใจแก่ผู้ใช้งานหรือเจ้าของระบบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสถิติยังมีการตรวจพบความพยายาม Login และเข้าจากภายนอกผ่านช่องทาง Internet Access มายังระบบที่ต้องเปิดให้ผู้ใช้งาน หรือผู้ใช้บริการเข้าถึง ดังนั้น ทุกหน่วยงาน บริษัท หรือองค์กรต่าง ๆ ควรปฏิบัติตามนโยบายความมั่นคงปลอดภัยเกี่ยวกับ Password หรือรหัสผ่านอย่างเคร่งครัด รวมถึงหมั่นตรวจสอบว่าเป็นการพยายามเข้าถึงระบบจากภายนอกที่ผิดปกติหรือไม่ อีกทั้ง ควรมีแผนรับมือและจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันผลกระทบและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

Malicious Code

การโจมตีด้วยโปรแกรมไม่พึงประสงค์ สาเหตุหลักมาจากพนักงานขององค์กรเองที่ขาดความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักทางด้าน Cybersecurity รวมถึงการควบคุม Policy ที่ไม่รัดกุม ส่งผลให้มีมัลแวร์หลุดรอดเข้ามายังระบบจนส่งผลให้เกิดความเสียหายหนักตามมา ไม่ว่าจะเป็นการโดนโจมตีจาก Ransomware ไวรัส และโทรจัน ที่ยังมีให้พบได้อยู่เสมอ

Availability

พฤติกรรมการสร้างปริมาณ Traffic/Packet ที่ผิดปกติเพื่อก่อกวนในระบบ Network (Flood Network) หรือการ DoS (Denial of Service) รูปแบบหนึ่ง โดยมีสาเหตุ มาจากการติดมัลแวร์ หรือการโจมตีผ่านช่องโหว่ต่าง ๆ ทำให้มีการรับหรือส่ง Traffic เป็นจำนวนมาก จนทำให้รบกวนการทำงานของอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย (Security Device) ในระบบได้  เช่น อุปกรณ์ Firewall ต้องทำงานหนักจากการบล็อคหรือป้องกัน Traffic ที่ผิดปกติ จนส่งผลกระทบให้การใช้งานระบบช้าลง หรือแม้กระทั่งหยุดทำงานได้

Information Gathering

ยังคงเป็นพฤติกรรมพื้นฐานของการเจาะระบบที่ Hacker หรือผู้ไม่หวังดีจะกระทำเพื่อหาข้อมูลเบื้องต้น การเก็บข้อมูลของเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นจากการใช้เครื่องมือเฉพาะเจาะจงเพื่อค้นหา หรือแม้แต่ข้อมูลการประกาศรับสมัครงานขององค์กรเอง สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นช่องทางในการต่อยอดให้เหล่า Hacker เข้าถึงระบบของเราได้

Policy Violation

การละเมิดนโยบายขององค์กร อาจจะด้วยความไม่ตั้งใจของพนักงาน เช่น การพยายามใช้งาน USB ซึ่งมักจะเป็นหนึ่งในช่องทางการแพร่มัลแวร์ การเข้าเว็บไซต์ต้องห้าม การแอบติดตั้งโปรแกรม หรือมาจากการโจมตีของผู้ไม่หวังดี เช่น การพยายามเข้าใช้งานระบบนอกเวลางานซึ่งเข้าถึงจากต่างประเทศ เป็นต้น

Top 5 ประเทศต้นทางที่มีพฤติกรรมพยายาม Exploit

สถิติทางด้านการโจมตีอันดับ 1 ยังคงมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเช่นเคย แต่มีแนวโน้มลดลงจากปีที่ผ่านมาและพบประเทศที่ติดอันดับเข้ามาใหม่คือ อินเดีย น่าสนใจว่าฐานการโจมตีนั้นเริ่มหลากหลายมากยิ่งขึ้น

Top 5 malware ที่ถูกพบมากที่สุด

Trojan.Multi.BroSubsc.gen

ยังคงเป็นอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง Trojan.Multi.BroSubsc.gen เป็นโทรจันชนิดหนึ่งที่ช่วยให้ Hacker สามารถฝัง Backdoor ไว้ในเครื่องเหยื่อได้ ซึ่งช่องทางการแพร่กระจายมาจากการดาวน์โหลดโปรแกรมปลอม ไฟล์แนบหลอกลวง เว็บไซต์ที่ไม่ปลอดภัย หรือโฆษณาหลอกลวงต่าง ๆ จุดมุ่งหมายของโทรจันประเภทนี้คือการเก็บข้อมูลบนเครื่องคอมพิวเตอร์ของเหยื่อ โดยการแอบติดตั้ง Ransomware หรือ ไวรัสอื่น ๆ เพื่อขโมยข้อมูล ความน่ากลัวของมัลแวร์ชนิดนี้คือ การดักปล้นเบราเซอร์และเริ่มแสดงโฆษณาที่แสนน่ารำคาญโดยใช้ข้อมูลจาก Browser History ซึ่งโฆษณาเหล่านี้ล้วนแฝงไปด้วยมัลแวร์

Backdoor: Andromeda.Botnet

เป็นโทรจันที่อยู่ในตระกูล Andromeda ทำตัวเป็น Backdoor สำหรับแฮกเกอร์ไว้ Remote เข้าเครื่องเหยื่อและมีหลายความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งมัลแวร์ตัวอื่นเพิ่มเติม หรือการขโมยข้อมูลต่างๆ จากเครื่องของเหยื่อออกไป สาเหตุการแพร่การจายส่วนใหญ่มาจากไฟล์แนบที่มากับอีเมลหลอกลวง

W32/Khalesi.XB!tr

ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของโทรจันเช่นกัน พฤติกรรมโดยทั่วไปคือการ Remote เข้าเครื่องเหยื่อจากระยะไกล เก็บข้อมูลจากแป้นพิมพ์ เก็บข้อมูลของเครื่องคอมพิวเตอร์ ดาวโหลด/อัปโหลดไฟล์ ติดตั้งมัลแวร์ตัวอื่นลงบนเครื่องเหยื่อ ใช้เป็น Bot เพื่อทำการโจมตี DoS ไปยังเครื่องเป้าหมาย

Backdoor: Backdoor.DoublePulsar

DoublePulsar ถูกค้นพบในเดือนมีนาคม 2017 และถูกนำมาใช้ร่วมกับ WannaCry Ransomware ในเดือนพฤษภาคม ปี 2017 DoublePulsar ใช้ช่องโหว่เก่าในระบบปฏิบัติการ Windows ในการฝังตัวเข้ามายังระบบ พฤติกรรมเหมือนกับโทรจันตัวอื่น ๆ คือการ Remote เข้ามาควบคุมเครื่อง

HEUR:Trojan.Script.Generic

ชื่อว่าโทรจัน แต่จัดเป็น Ransomware ชนิดหนึ่งแพร่ระบาดผ่านทางอีเมลหลอกลวง ที่แนบไฟล์ Ransomware หรือลิ้งก์หลอกลวงมาด้วย เพื่อให้เหยื่อหลงกลและกดดาวน์โหลด Ransomware มาที่เครื่อง จากนั้นจะทำการเข้ารหัสไฟล์และเรียกค่าไถ่

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่ารูปแบบของภัยคุกคามนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปแต่อย่างใด เหล่าแฮกเกอร์ยังคงอาศัยการโจมตีรูปแบบเดิม เพียงแต่มีความซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้งยังทวีคูณระดับความรุนแรงของผลกระทบและมูลค่าความเสียหายมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการสร้างเกราะป้องกันภัยคุกคามทางด้าน Cyber ไม่ว่าจะเป็นพนักงานทั่วไป ผู้บริหาร รวมถึงผู้มีส่วนรับผิดชอบด้านระบบ Security ขององค์กร ก็คือ Security Awareness ที่ต้องหมั่นสร้างและย้ำเตือนให้แก่พนักงานทุกคนอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง

สำหรับข้อมูลในปีที่ผ่าน  ๆ มา สามารถดูข้อมูลย้อนหลัง ปี 2563 และ 2562 ได้ตามลำดับ ซึ่งชื่อของภัยคุกคามอาจจะแตกต่างจากปีนี้ไปบ้าง แต่ก็สามารถที่นำมาอ้างอิงเพื่อเป็นข้อมูลในการับมือกับภัยต่าง ๆ ได้เช่นกัน

หากสนใจ หรือมีความต้องการใช้บริการเกี่ยวกับ Cybersecurity แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อเราได้ผ่านทาง https://www.cyfence.com/contact-us/ หรือโทร 1888 ทีมงาน NT cyfence พร้อมแนะนำ และให้คำปรึกษาด้านความปลอดภัยสารสนเทศอย่างครบวงจร

บทความที่เกี่ยวข้อง

  • 25 ธันวาคม 2024

    ปัจจุบันระบบ AI (Artificial Intelligence) มีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมการผลิตหรือการขนส่ง รวมไปถึงในด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญมากขึ้น เมื่อเหล่าแฮกเกอร์นำเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้มาใช้โจมตีในรูปแบบต่าง ๆ เพราะ AI มีสามารถเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ วิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำในเวลาอันรวดเร็ว จากข้อมูลอ้างอิงของ Check Point, Tanium, Darktrace และ Palo[...]

  • 20 ธันวาคม 2024

    LinkedIn แพลตฟอร์มที่กำลังนิยมในขณะนี้ ปัจจุบันเริ่มกลายเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ทำ Phishing ซึ่งมีแนวโน้มว่าปี 2025 จะกลายเป็นเครื่องมือหลักที่แฮกเกอร์ใช้โจมตี

  • 18 พฤศจิกายน 2024

    การอัปเดตซอฟต์แวร์เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ แต่บางครั้งก็มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เครื่องมือบางชนิดของผู้ใช้งานเกิดความผิดพลาดได้