ขานรับ Lifestyle of BYOD Trend
18 มิถุนายน 2015
สถิติในปี 2014 ที่ผ่านมามียูสเซอร์ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 3 พันล้านยูสเซอร์จาก 198 ประเทศทั่วโลก และประเทศไทยถูกจัดว่ามีการใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่ในอันดับ 29 นอกจากนี้ยังพบว่าคนไทยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ต่ำกว่า 7.2 ชั่วโมงต่อวัน และเทรนด์เทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่มาแรงคือ Bring Your Own Device (BYOD) หากแปลตามอักษรคือ “นำอุปกรณ์ของคุณมาเอง” ซึ่งหมายถึงแนวโน้มทางเทคโนโลยีที่พนักงานนำอุปกรณ์พกพาของตัวเองมาใช้เชื่อมต่อระบบเครือข่ายในที่ทำงานและใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเข้าถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่สำคัญในองค์กร เช่น อีเมล, ไฟล์เซิร์ฟเวอร์ และฐานข้อมูล เป็นต้น
ภาพจาก http://www.inauth.com/byod-putting-corporate-data-at-risk/
การเติบโตของ BYOD นั้น โดยเฉลี่ยแล้วพนักงาน 1 คนจะพกพาอุปกรณ์ของตัวเองมาใช้ในองค์กรไม่ต่ำกว่า 3 เครื่อง เช่น Smartphone, Tablet, Notebook หรืออุปกรณ์สื่อสารแบบพกพาประเภทต่างๆ ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหรืออินทราเน็ตภายในองค์กรได้ นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าพนักงานในแต่ละองค์กรจะมีการใช้งานผ่านอุปกรณ์ Tablet เพิ่มขึ้น 50% ในทุกๆ ปี และตลาดอุปกรณ์ Smartphone จะมีจำนวนถึง 1.2 พันล้านเครื่องในปี 2018
เราจะเห็นได้ว่าแนวโน้มการใช้งานในรูปแบบของ BYOD มีอัตราการเพิ่มขึ้น เนื่องจากความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อสื่อสารและการปฏิบัติงาน แต่ทว่าทุกเทคโนโลยีก็เหมือนเหรียญสองด้าน เมื่อมีด้านสว่างก็จะมีด้านมืดเสมอ ดังนั้นสิ่งที่ทุกองค์กรไม่อาจมองข้ามได้ นั่นคือประตูความเสี่่ยงจากการที่องค์กรอนุญาตให้พนักงานใช้อุปกรณ์ BYOD เข้าถึงสารสนเทศที่สำคัญขององค์กรเอง
ข่าวแจ้งเตือนเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่มีเกือบทุกวัน โดยพบช่องโหว่ในอุปกรณ์ BYOD เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว อาทิ ข่าวการเจาะข้อมูลบัตรเครดิตจาก Smartphone การติดมัลแวร์ (Malwares) การแฮกข้อมูลของยูสเซอร์ในระบบ Cloud รวมถึงภัยจากการเจาะระบบด้วยเทคนิค Brute-force เพื่อ Bypass passcode หรือรหัสผ่านของเครื่อง อีกทั้งอุปกรณ์พกพานี้อาจมีการ Jail-breaking ในระบบปฏิบัติการ iOS ของ Apple หรือ Rooting ในระบบปฏิบัติการ Android ซึ่งถือเป็นกระบวนการ Reconfigure ที่ส่งผลให้แฮกเกอร์สามารถลงโปรแกรมภัยร้ายบางอย่างที่นำไปสู่การ Bypass ระบบ Security ที่องค์กรได้กำหนดไว้ กระทั่งส่งผลให้ทั้งข้อมูลส่วนตัวและสารสนเทศที่สำคัญขององค์กรรั่วไหลผ่านช่องทาง BYOD และนี่ถือเป็นด้านมืดของช่องโหว่ที่เพิ่มมากขึ้นหากปล่อยให้ไม่มีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยที่ดี
องค์กรจะรับมือกับ Lifestyle BYOD ได้อย่างไร
ทุกองค์กรควรวางกติกาในการบริหารจัดการการเข้าถึงสารสนเทศที่สำคัญขององค์กรผ่านอุปกรณ์โมบาย (Mobile Device Management: M2M) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยในระบบ IT Security ในหลายรูปแบบอาทิ
- การจัดระดับชั้นความลับสารสนเทศที่สำคัญ
- การบริหารจัด Network Zoning ในการอนุญาตให้ใช้งานอุปกรณ์ BYOD
- การกำหนดสิทธิการเข้าถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและสารสนเทศที่สำคัญ
- การเข้ารหัสข้อมูลเมื่อมีการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร (VPN)
- การลงทะเบียนอุปกรณ์ BYOD
- การยืนยันตัวด้วยระบบ 2-factor authentication
- ติดตั้งและอัพเดท Antivirus บนอุปกรณ์ BYOD
- กำหนดให้ทำการ Auto lock อุปกรณ์ BYOD และเปลี่ยนรหัสผ่านอย่างสม่ำเสมอ
- จัดเก็บ Log File ตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ
ข้อแนะนำเบื้องต้นเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการกำหนด “นโยบายความมั่นคงปลอดภัยจากการใช้งาน BYOD” แต่สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพให้กับนโยบายดังกล่าว นั่นคือ “การสร้างความตระหนักถึงภัยคุกคาม” ให้กับพนักงานทุกคนที่นำอุปกรณ์ BYOD เข้ามาใช้งานในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร เพราะหากทุกคนได้มองเห็นถึงภัยที่จะเกิดขึ้น ทั้งกับข้อมูลของตนเองและองค์กร สิ่งนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติจริงโดยไม่มีข้อกังขา และน่าจะเป็นแนวทางที่ได้ผลชัดเจนกว่าการนำมาตรการใด ๆ เข้ามาบังคับใช้
วิถีแห่ง BYOD ที่พร้อมสรรพทั้งความสะดวกสบายในการเข้าถึงข้อมูลทุกที่ทุกเวลาและมีความมั่นคงปลอดภัยจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อทุกคนในองค์กรต้องให้ความสำคัญและสร้างขึ้นร่วมกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง