5 วิธีง่าย ๆ ปกป้อง บัญชีทวิตเตอร์ของคุณให้ปลอดภัยขึ้น

20 สิงหาคม 2020

NT cyfence
NT cyfenceทีมงาน NT cyfence ที่พร้อมให้คำปรึกษา และ ดูแลความปลอดภัยให้กับทุกองค์กร อย่างครบวงจร ด้วยทีมงานมืออาชีพ

ทวิตเตอร์กลายเป็น Social media ที่เติบโตสูงมากตั้งแต่ปี 2019 มาจนถึงปัจจุบัน โดยประเทศไทยติดอันดับที่ 11 จาก 20 ประเทศทั่วโลกที่คนเล่นทวิตเตอร์มากที่สุด (ข้อมูลจากการใช้ทวิตเตอร์ในปี 2020 : Statista) จากสถิติเผยว่าประเทศไทยมีการเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ย 35% เมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้งานทวิตเตอร์กว่า 6,545,000 บัญชี

เมื่อทวิตเตอร์กลายเป็น Social media เติบโตเร็วมากที่สุดในโลกก็ย่อมกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของแฮกเกอร์ที่หาช่องทางในการขโมยข้อมูลจากเหยื่อ หากติดตามข่าวสาร IT security จะพบข่าวการถูกแฮกบัญชีทวิตเตอร์อย่างนับไม่ถ้วน ซึ่งข่าวล่าสุดพบการแฮกบัญชีคนดังอย่าง Barack Obama, Bill Gates, Elon Musk และ Kanye West แอบอ้างแจกรางวัลด้วย Bitcoin เพียงแค่ให้ผู้ใช้งานทั่วไปคลิกลิงก์ดังกล่าว เช่น ข่าว Twitter ของคนดังหลายคนถูกแฮก อ้างแจกเหรียญ Bitcoin เป็นต้น ดังนั้น ไม่ว่าจะใช้บัญชี Social media ใด ๆ ก็ควรมีการป้องกันบัญชีของตนเองด้วย สำหรับบทความนี้ ทีมงานมี 5 วิธีปกป้องบัญชีทวิตเตอร์จากการโดนแฮก ดังนี้

1. ใช้รหัสผ่านที่ยากต่อการคาดเดา

คนส่วนใหญ่มักจะตั้งรหัสผ่านแบบเน้นความสะดวกและจำง่าย เลยมักจะเลือกเลขวันเกิด วันครอบรอบ เบอร์โทร ชื่อสัตว์เลี้ยง หรือชื่อลูก ฯลฯ มาใช้ตั้งเป็นรหัสผ่าน ซึ่งรหัสเหล่านี้มีความปลอดภัยอยู่ในระดับอ่อนแอ และมักจะถูกแฮกได้ง่าย คุณควรตั้งรหัสผ่านที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ต้องมีความยาวระหว่าง 8-20 อักขระ มีตัวพิมพ์ใหญ่ ตัวพิมพ์เล็ก ตัวเลข และตัวสัญลักษณ์ รวมอยู่ด้วยกัน และไม่ควรใช้รหัสผ่านที่เหมือนกันรหัสของอีเมลที่ใช้สมัครบัญชีทวิตเตอร์ เพื่อเพิ่มความยากในการแฮกขึ้นไปอีกขั้น แต่หากคุณกลัวว่าจะจำรหัสผ่านไม่ได้และคิดว่ามันยุ่งยากเกินไป ก็อาจจะลองใช้ตัวช่วยอย่าง Password Manager ก็ได้เช่นกัน

2. ใช้การยืนยันตนแบบ 2 ขั้นตอน(2FA)

การใช้งานแบบยืนยัน 2 ขั้นตอน (Two-Factor Authentication หรือ 2FA) เป็นขั้นตอนเพิ่มความปลอดภัยที่เรียกว่า การตรวจสอบหลายปัจจัย ซึ่งจะเข้าถึงข้อมูลจำเป็นต้องใช้มากกว่าชื่อบัญชีและรหัสผ่าน เช่น ข้อมูลเฉพาะที่จะมีเพียงเจ้าของบัญชีเท่านั้นที่รู้และอุปกรณ์ใช้งานที่เจาะจง ดังนั้นต่อให้แฮกเกอร์รู้รหัสผ่านของคุณ แต่ก็จะไม่สามารถเข้าถึงบัญชีของคุณได้หากไม่มีอุปกรณ์ที่น่าเชื่อถือ

วิธีตั้งค่าการใช้งานการยืนยัน 2 ขั้นตอน (แบบตั้งค่าในสมาร์ทโฟน) ดังนี้

  1. เข้าเมนู “การตั้งค่าและความเป็นส่วนตัว”
  2. เลือกเมนู บัญชี > ความปลอดภัย
  3. เลือก การยืนยันตัวตนแบบสองปัจจัย
  4. คลิก เริ่มต้น เพื่อเริ่มการใช้ฟีเจอร์
  5. จากนั้นให้ป้อน รหัสผ่านบัญชีทวิตเตอร์ แล้วกด ยืนยัน
  6. จากนั้นให้เลือก การยืนยันตัวตนแบบสองปัจจัย โดยให้เลือกแบบ ส่งข้อความ (เลข OTP) เพื่อให้ป้อนหมายเลขโทรศัพท์ของเจ้าของบัญชี
  7. จากนั้นจะมีข้อความ SMS ส่งเลข OTP จำนวน 6 หลัก โดยจะต้องนำเลขไปใส่ในช่องป้อนรหัส OTP
  8. ป้อนรหัสยืนยัน 6 หลัก ที่ได้รับจากข้อความ SMS จากนั้นกด ถัดไป
  9. เสร็จสิ้นการยืนยันตัวตนแบบสองปัจจัย (ยังไม่เสร็จสิ้นขั้นตอน)
  10. จากนั้นให้ทำตามขั้นตอนเดิมอีกครั้ง แต่ให้เลือกเมนู การป้องกันการรีเซ็ตรหัสผ่าน เพื่อป้องกันแฮกเกอร์หรือผู้อื่นแอบรีเซ็ตรหัสผ่าน
  11. ใส่รหัสผ่านเจ้าของบัญชี เพื่อยืนยันตัวตน จากนั้นกด ตกลง
  12. เมื่อเข้าสู่ระบบ ก็จะมีการส่งข้อความ OTP เพื่อให้เจ้าของบัญชีป้อนรหัสยืนยันอีกขั้นตอน ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ถูกผู้อื่นแอบสวมรอยบัญชีได้

3. ตั้งค่าบัญชีไม่ให้แจ้งเตือน

หากคุณรับการแจ้งเตือนทั้งหมดหรือตั้งค่ารับข้อความทั่วไปโดยไม่มีการกรองคุณภาพ จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้คุณได้รับรูป การติดต่อจากบัญชีต่าง ๆ อย่างไม่จำกัด นั่นอาจทำให้คุณพลาดและเสี่ยงต่อการเข้าถึงของเหล่าแฮกเกอร์ด้วยก็ได้

** ให้เข้าเมนูตั้งค่า เพื่อเลือก การแจ้งเตือน จากนั้นเลือก เมนู > ตัวกรองขั้นสูง

4. บล็อคและรายงานบัญชีที่ไม่น่าไว้ใจ

การบล็อกบัญชีทวิตเตอร์ที่ไม่น่าไว้ใจ จะช่วยทำให้คุณจำกัดบัญชีนั้น ๆ ไม่ให้สามารถติดต่อและดูทวิตเตอร์ของคุณได้ แต่หากคุณพบบัญชีทวิตเตอร์ที่ทำการละเมิดตัวคุณ ก็สามารถรายงานบัญชีได้โดยตรงได้อีกด้วย

** กดเข้าบัญชีที่สงสัย จากนั้นให้คลิกปุ่มเครื่องหมาย “สามจุด” บนขวาสุดของหน้าจอ สมาร์ทโฟน เพื่อเลือก บล็อคบัญชี หรือ รายงานบัญชี **

5. ระวังฟิชชิง (Phishing)

ฟิชชิง (Phishing) คือการหลอกลวงรูปแบบหนึ่งที่อาศัยการทำ Social Engineering ผ่านการส่งอีเมล โดยมีเจตนาให้ได้มาซึ่งล็อกอินและรหัสผ่านของเหยื่อ โดยแฮกเกอร์ส่วนใหญ่จะพยายามเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของคุณด้วยการส่งอีเมลมาเตือนคุณว่าบัญชีทวิตเตอร์ของคุณถูกแฮกและสั่งให้คุณเปลี่ยนรหัสผ่านทันที ตลอดจนกลอุบายต่าง ๆ เช่น ส่งลิงก์ลวงมาให้คุณลงทะเบียนเพื่อรับรางวัลต่าง ๆ หรือลักษณะข้อความแบบแชร์ลูกโซ่ เป็นต้น

ที่มา :
https://www.statista.com/statistics/242606/number-of-active-twitter-users-in-selected-countries/
https://www.indiatoday.in/information/story/how-to-protect-your-twitter-account-tips-to-secure-your-twitter-account-from-hackers-1701284-2020-07-17

บทความที่เกี่ยวข้อง

  • 25 ธันวาคม 2024

    ปัจจุบันระบบ AI (Artificial Intelligence) มีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมการผลิตหรือการขนส่ง รวมไปถึงในด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญมากขึ้น เมื่อเหล่าแฮกเกอร์นำเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้มาใช้โจมตีในรูปแบบต่าง ๆ เพราะ AI มีสามารถเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ วิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำในเวลาอันรวดเร็ว จากข้อมูลอ้างอิงของ Check Point, Tanium, Darktrace และ Palo[...]

  • 20 ธันวาคม 2024

    LinkedIn แพลตฟอร์มที่กำลังนิยมในขณะนี้ ปัจจุบันเริ่มกลายเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ทำ Phishing ซึ่งมีแนวโน้มว่าปี 2025 จะกลายเป็นเครื่องมือหลักที่แฮกเกอร์ใช้โจมตี

  • 18 พฤศจิกายน 2024

    การอัปเดตซอฟต์แวร์เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ แต่บางครั้งก็มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เครื่องมือบางชนิดของผู้ใช้งานเกิดความผิดพลาดได้