รู้ทัน!! คนโกงในโลกออนไลน์ และ วิธีป้องกันไม่ให้เป็นเหยื่อ

30 กรกฎาคม 2019

NT cyfence
NT cyfenceทีมงาน NT cyfence ที่พร้อมให้คำปรึกษา และ ดูแลความปลอดภัยให้กับทุกองค์กร อย่างครบวงจร ด้วยทีมงานมืออาชีพ

ปัจจุบันการทำธุรกรรมออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ทุก ๆ คนก็สามารถที่จะกลายเป็น ผู้ซื้อและผู้ขาย ผ่านทาง Social Media ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงธุรกิจ E-Commerce ที่สนับสนุนการให้กับผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อพูดคุยกันได้ง่ายขึ้น โดยการทำธุรกรรมออนไลน์มีหลายรูปแบบ เช่น พรีออเดอร์ (การสั่งซื้อสินค้าต่างประเทศโดยจ่ายเงินก่อนนัดส่งสินค้า)  การซื้อขายตาม Social Media  เช่น  Facebook , Instagram หรือ Line@  หรือ การทำธุรกรรมอื่น ๆ ทางออนไลน์ ซึ่งกลโกงมักแอบแฝงอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ หากไม่ระวัง ก็อาจตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจจฉาชีพได้ ยกตัวอย่างกลโกงที่พบบ่อย ๆ มีดังนี้

  1. ซื้อสินค้าออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าตามกำหนด

    มิจฉาชีพอาจสร้างบัญชีเพจร้านค้าตาม Social Media ต่างๆ เช่น Facebook , Instagram หรือ Line@ อาจมีการโพสรูปสินค้า ทำโปรโมชั่นลดราคาถูกเกินท้องตลาดเพื่อจูงใจ เหยื่อที่ไม่รู้หลงกลและโอนเงิน แต่เมื่อต้องการเลขพัสดุสินค้าก็ไม่มีการติดต่อกลับ หรือเมื่อติดต่อกลับไปไม่มีคนรับสาย ทำให้สูญเงินไปโดยไม่มีโอกาสได้คืน

    วิธีสังเกตและวิธีป้องกัน

    1. สังเกตยอดไลค์แฟนเพจ การรีวิวได้รับสินค้าจากผู้ซื้อต่าง ๆ
    2. เช็คราคาจากเพจร้านค้าหลาย ๆ ที่ ว่าราคาใกล้เคียงกันหรือไม่
    3. เช็คชื่อและเลขที่บัญชีผู้ขายจาก Social Media ต่าง ๆ เช่น กระทู้ Pantip หรือ กลุ่มซื้อขายสาธารณะ Facebook ว่าเคยมีผู้โดนโกงหรือไม่
    4. ซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ที่มีชื่อเสียง เพื่อหลีกเลี่ยงการโอนเงินให้กับผู้ขายโดยตรง เช่น Lazada , Shopee เป็นต้น
  2. หลอกให้โอนเงินโดยใช้การสวมรอยบัญชีอีเมล หรือ Social Network

    มิจฉาชีพจะส่งอีเมล Phishing แอบอ้างเป็นผู้ให้บริการอีเมล เพื่อหลอกให้กรอกข้อมูลชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน เพื่อนำมาสวมรอยเข้าใช้งานในบัญชีอีเมลของเจ้าของบัญชี หลังจากนั้นจะส่งอีเมลไปหาเพื่อนของเจ้าของบัญชีอีเมล เพื่อหลอกให้เพื่อนโอนเงินให้หรือถ้าเจ้าของบัญชี ใช้รหัสผ่านชุดเดียวกันใน Social Media ต่าง ๆ มิจฉาชีพอาจจะนำรหัสผ่านไป Login สวมรอยต่อใน Social Network ได้อีกด้วย

  3. แอบอ้างเป็นบุคคลต่าง ๆ หลอกว่าจะโอนเงินหรือส่งของให้เหยื่อ

    มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นบุคคลต่าง ๆ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กร หน่วยงานราชการ หรือ ชาวต่างชาติจากแอปหาคู่รัก (Romance Scam) ฯลฯ ซึ่งหลอกว่าจะโอนเงินหรือส่งของขวัญมาให้ พร้อมส่งหลักฐานโอนเงินปลอมเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ จากนั้นจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากเหยื่อ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ค่าดำเนินการ ค่าภาษีศุลกากร ค่าทนาย โดยจะเรียกเก็บในจำนวนน้อยแล้วเพิ่มจำนวนเงินขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกว่าเหยื่อจะรู้ตัวว่าถูกหลอกก็อาจหมดเงินไปจำนวนมากแล้ว

  4. โฆษณาปล่อยเงินกู้นอกระบบ

    มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้ผ่านโฆษณาเว็บไซต์ กลุ่ม Facebook สาธารณะ หรือส่งอีเมลหาเหยื่อโดยตรง ใช้คำจูงใจในรูปแบบต่าง ๆ เช่น บริการกู้นอกระบบ ดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติง่าย รวดเร็ว ไม่ต้องตรวจสอบเครดิตบูโร เมื่อเหยื่อหลงกลติดต่อไป แก๊งมิจฉาชีพจะส่งสัญญาและขอให้เหยื่อลงลายเซ็น พร้อมโอนเงินชำระค่าทำสัญญา ค่าเอกสาร ค่ามัดจำ ภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งเหยื่ออาจจะเสียรู้ด้วยความรีบร้อน เมื่อโอนและติดต่อกลับไปเพื่อต้องการเงินกู้กลับไม่สามารถติดต่อผู้ให้กู้อีกได้เลยและสูญเงินไปโดยไม่มีโอกาสได้คืน

  5. โดนใช้บัญชีเป็นที่พักเงินจากมิจฉาชีพ

    มิจฉาชีพจะประกาศรับสมัครงานผ่านอินเทอร์เน็ต หลอกเหยื่อว่าเป็นบริษัทต่างประเทศที่ขายสินค้าในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก จึงขอให้เหยื่อทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมเงินให้ โดยจ่ายเป็นค่านายหน้า เมื่อมีเงินโอนเข้าบัญชีของเหยื่อ บริษัทจะแจ้งเหยื่อให้หักค่าจ้างไว้ แล้วโอนเงินที่เหลือทั้งหมดให้แก่บริษัทแม่ในต่างประเทศทันทีผ่านบริการโอนเงินที่ไม่ต้องใช้เอกสารแสดงตน โดยที่เหยื่อไม่รู้เลยว่า เงินที่โอนเข้ามาในบัญชีเหยื่อนั้นเป็นเงินผิดกฎหมายที่มิจฉาชีพหลอกให้คนอื่นโอนมาให้ กว่าเหยื่อจะรู้ตัวก็เมื่อพนักงานธนาคารติดต่อเพื่ออายัดบัญชีของเหยื่อหรือถูกตำรวจจับแล้ว

โดยสรุปแล้ว กลุ่มมิจฉาชีพส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมที่น่าสงสัย แบ่งเป็นข้อ ๆ ตามนี้

  1. ขายสินค้าถูกกว่าท้องตลาดเกินไป
  2. ล่อลวงให้โอนเงินค่าสินค้าล่วงหน้า โดยไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพียงพอ
  3. เมื่อโอนเงินแล้วผู้ขายจะหายตัวไป ปิดช่องทางการติดต่อทุกทาง
  4. เปลี่ยนชื่อและเบอร์โทรฯ ไม่ซ้ำกัน
  5. นัดเจอเพื่อรับของก่อนแล้วโอนทีหลัง
  6. ปลอม SMS จากธนาคารเพื่อหลอกโอนเงิน หรือหลอกว่าให้โอนเงินคืน เพราะโอนเงินเกิน
  7. อ้างว่า เว็บซื้อขายสินค้า เป็นคนกลางในการซื้อขายสินค้า ให้เหยื่อติดต่อรับเงินจากคืนเว็บไซต์นั้น ๆ เอง

วิธีป้องกันตัวเองเบื้องต้น

  1. เปิดเผยข้อมูลใน Social Network เท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำข้อมูลไปแอบอ้างใช้ทำธุรกรรม
  2. ควรเปลี่ยนรหัสผ่าน (password) ในการเข้าใช้บัญชีอีเมลหรือบัญชี Social Network เป็นประจำ
  3. เมื่อได้รับการติดต่อแจ้งให้โอนเงินให้ ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนโอนเงิน หรือติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมศุลกากร โทร. 1164 ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213 หรือสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของหน่วยงานต่างชาติ
  4. ไม่โลภต่อเงินที่ไม่มีที่มา ผลตอบแทนที่สูงเกินจริง หรือ ดอกเบี้ยต่ำ ควรพิจารณาให้รอบคอบถึงความเป็นไปได้ในความเป็นจริง
  5. ตรวจหาไวรัสในเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นประจำ เพื่อป้องกันการขโมยข้อมูลการใช้งาน
  6. หากต้องการซื้อสินค้าทางออนไลน์ควรซื้อจากเว็บไซต์บัญชีทางการที่สามารถตรวจสอบได้
  7. ติดตามข่าวสารกลโกงอย่างสม่ำเสมอ

หากเราประสบเหตุดังกล่าวและต้องการเอาผิดกับมิฉาชีพเหล่านี้ เราสามารถดำเนินการได้ ตามขั้นตอนที่กองปราบปรามได้แนะนำ:

  1. แจ้งความดำเนินคดีกับสถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ (โอนเงินที่ไหนให้ไปแจ้งความที่เขตนั้น) ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่รู้ว่าโดนหลอก เช่น ถึงกำหนดส่งของแล้วไม่ส่ง ติดต่อไม่ได้ เป็นต้น หรือ ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคาร B ชั้น 4 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทร. 02-142-2556-7  เว็บไซต์  tcsd.go.th

    ⚠️อย่าลืม! ต้องแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า “ขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด” อย่าแจ้งเพียงว่า แจ้งความไว้เป็นหลักฐาน (ถ้าแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเฉยๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจเพิกเฉย เพราะถือว่าการแจ้งแบบนี้แปลว่าเจ้าทุกข์จะดำเนินการทางศาลด้วยตนเอง)


  1. เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจรับแจ้งความแล้วจะดำเนินการดังนี้
    2.1 ลงบันทึกประจำวันรับแจ้งความดำเนินคดี (สามารถขอคัดถ่ายสำเนาได้)
    2.2 สอบปากคำผู้แจ้งให้ทราบถึงรายละเอียดพฤติการณ์ในคดี
    2.3 ทำการออกหมายเรียก เจ้าของบัญชีที่ผู้เสียหายได้โอนเงินไปให้ มาให้ปากคำ ถ้าไม่มาตามหมายเรียก 2 ครั้ง เป็นเหตุตามกฎหมายเชื่อว่าจะหลบหนี
    2.4 ตามข้อ 2.3 ตำรวจจะยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ออกหมายจับ
  1. การเตรียมเอกสาร
    3.1 บัตรประชาชนของผู้แจ้ง/ผู้เสียหาย
    3.2 หน้าประกาศ/ข้อความโฆษณาขายสินค้าใน Web Board, Page, Facebook, Instagram, Line ที่โพสต์ขายสินค้าและทำให้หลงเชื่อ
    3.3 หลักฐานการโอนเงิน เช่น สลิปโอนเงิน, Statement, Mobile Banking
    3.4 หลักฐานในการติดต่อซื้อขายสินค้า พูดคุยต่างๆ เช่น ข้อความแชท (Chat) ที่สั่งซื้อสินค้า, หมายเลขโทรศัพท์, ข้อความ (SMS), Email Address, Line, Facebook Messenger เป็นต้น
    3.5 ข้อมูลผู้ขายสินค้าหรือผู้ร่วมขบวนการ เช่น ชื่อ นามสกุล, หมายเลขบัญชีธนาคารที่โอนเงินไปให้, หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ, ที่อยู่ เป็นต้น
    3.6 หลักฐาน/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี

อ้างอิงที่มา:

บทความที่เกี่ยวข้อง

  • 25 ธันวาคม 2024

    ปัจจุบันระบบ AI (Artificial Intelligence) มีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมการผลิตหรือการขนส่ง รวมไปถึงในด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญมากขึ้น เมื่อเหล่าแฮกเกอร์นำเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้มาใช้โจมตีในรูปแบบต่าง ๆ เพราะ AI มีสามารถเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ วิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำในเวลาอันรวดเร็ว จากข้อมูลอ้างอิงของ Check Point, Tanium, Darktrace และ Palo[...]

  • 20 ธันวาคม 2024

    LinkedIn แพลตฟอร์มที่กำลังนิยมในขณะนี้ ปัจจุบันเริ่มกลายเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ทำ Phishing ซึ่งมีแนวโน้มว่าปี 2025 จะกลายเป็นเครื่องมือหลักที่แฮกเกอร์ใช้โจมตี

  • 18 พฤศจิกายน 2024

    การอัปเดตซอฟต์แวร์เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ แต่บางครั้งก็มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เครื่องมือบางชนิดของผู้ใช้งานเกิดความผิดพลาดได้