Web browser ที่ใช้แน่ใจแค่ไหน ว่าปลอดภัย?

9 ธันวาคม 2021

NT cyfence
NT cyfenceทีมงาน NT cyfence ที่พร้อมให้คำปรึกษา และ ดูแลความปลอดภัยให้กับทุกองค์กร อย่างครบวงจร ด้วยทีมงานมืออาชีพ

เชื่อว่าใครหลายคนก็ใช้ Google Chrome เล่น Facebook ใช้ Safari เปิด Youtube หรือ  เข้าเว็บไซต์ผ่าน Microsoft Edge ไม่ว่าจะใช้งานด้วยเว็บเบราว์เซอร์แบบไหน สิ่งสำคัญที่สุด ที่ผู้ใช้งานหลาย ๆ คนมองข้ามไป ก็คือ เรื่องความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า เมื่อใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านเบราวเซอร์ดังกล่าว จะมีข้อมูลอะไรที่อาจโดนแอบเอาไปใช้ หรือถูกติดตามได้บ้าง

ยกตัวอย่างเคสสำคัญอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีมาแล้ว ที่เรียกว่า ‘Wavethrough’ ซึ่งเกิดจากช่องโหว่ของการจัดเรียงไฟล์มัลติมีเดีย ซึ่งช่องโหว่สำคัญก็คือ การประกอบไฟล์ใหญ่ ขึ้นมา ทำให้เราก็ไม่รู้ว่าเอาไฟล์จากแหล่งใดมาบ้าง ซึ่งก็มีโอกาสให้แฮกเกอร์โจมตีมาเช่นเดียวกัน หรือเคสที่โดน ‘Cookie Miner’ ที่ดึงข้อมูลส่วนตัวอย่างบัตรเครดิต Username & Password จากเบราว์เซอร์ ที่ผู้ใช้งาน Backup ขึ้นไว้ใน iTune ทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ถูกแฮกได้ เป็นต้น

ดังนั้นมาดูกันว่าเราจะใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ให้ปลอดภัยและข้อมูลส่วนตัวของเราถูกเก็บรักษาอย่างดี เล่นอินเตอร์เน็ตได้อย่างไร้กังวล สบายใจ  และเพิ่มความเป็นส่วนตัวกันมากขึ้นได้ยังไงบ้าง ไปดูกันเลย

  1. อัปเดตเบราว์เซอร์ เช็กปลั๊กอิน

ตรวจสอบให้แน่ใจว่า เว็บเบราว์เซอร์ที่ใช้เป็นเวอร์ชันปัจจุบัน เพราะนอกจากจะอัปเกรดเพิ่มระบบความปลอดภัยแล้ว ยังสามารถใช้ฟีเจอร์อื่น ๆ ของผู้พัฒนาเบราว์เซอร์ในแต่ละเจ้าที่ปรับปรุงเพิ่มประสบการณ์และประสิบธิภาพการใช้อินเตอร์เน็ตให้ดีขึ้นด้วย 

รวมถึงตรวจสอบปลั๊กอินที่ติดตั้งในเบราว์เซอร์ของคุณ เพราะบางครั้งปลั๊กอินที่คิดว่าช่วยให้ใช้งานเว็บไซต์ได้ง่าย กำลังขโมยข้อมูลของคุณอยู่ก็เป็นได้

  1. เปิด Pop-Up Blocker เปิด Safe Browsing

ทุกเบราว์เซอร์ที่คุณใช้ มักจะมีฟีเจอร์ที่ชื่อว่า Pop Up Blocker เอาไว้ในตัวอยู่แล้ว เมื่อเปิดใช้งานฟีเจอร์ดังกล่าว ก็ช่วยลดโอกาสที่จะเจอ Malware หรือไวรัสที่ซ่อนอยู่ในเว็บไซต์นั้น ๆ โดยไม่รู้ตัว 

รวมถึงฟีเจอร์ Safe Browsing ที่จะคอยแจ้งเตือนเมื่อมีการดาวน์โหลดไฟล์ โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือมีการละเมิดรหัสผ่านขณะใช้งาน ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานฟีเจอร์ดังกล่าว การเข้าใช้งานเว็บไซต์ ก็จะได้รับการแจ้งเตือนหากเว็บไซต์นั้นมีความเสี่ยง หรือมีโอกาสเป็นอันตรายกับอุปกรณ์ของคุณ รวมถึงมีการส่งข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ที่มีความเสี่ยงไปยังฐานข้อมูลของเว็บเบราว์เซอร์นั้น เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงการใช้งานต่อไป

  1. ล้างแคช ปิดคุกกี้ 

เนื่องจากคุกกี้ เปรียบเสมือนโปรไฟล์ของเราที่เข้าไปใช้งานเว็บไซต์นั้น ๆ บางครั้งเมื่อเข้าใช้งานเว็บไซต์ที่มีความเสี่ยง ข้อมูลส่วนตัวของเราก็อาจถูกส่งออกไปยังเว็บไซต์ไม่พึงประสงค์ได้ จนนำไปสู่การถูกแฮกหรือดูด ข้อมูลได้ รวมถึงการเก็บข้อมูลคุกกี้ยังกินพื้นที่บนฮาร์ดดิสก์ของคุณด้วย

  1. หลีกเลี่ยงการจดจำรหัสผ่าน

ก็คงปฏิเสธไมไ่ด้ว่าการจำรหัสผ่านบนเบราวเซอร์ที่ใช้เป็นประจำ คงจะสะดวกสบายไม่น้อย บางคนถึงขนาดลืมรหัสผ่านที่ใช้งานกันเลยทีเดียว แต่ความสะดวกสบายที่ว่า ก็ต้องแลกมากับความเสี่ยงที่รหัสอาจถูกขโมยได้ เพราะจะแน่ใจได้ยังไงว่า การใช้อินเตอร์เน็ตแต่ละครั้ง จะเจอกับมัลแวร์ที่เว็บไซต์ไหน หรือเบราวเซอร์ที่ใช้มีช่องโหว่จากซอฟต์แวร์ให้แฮกเกอร์มากน้อยแค่ไหนบ้าง ซึ่งการไม่เซฟรหัสผ่านเอาไว้ก็ช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง อีกทั้งจำเป็นต้องเปลี่ยนรหัสผ่านบ่อย ๆ ก็ช่วยให้ Account ของคุณปลอดภัยมากขึ้นอีกชั้นเช่นกัน

จริง ๆ แล้ววิธีการใช้งานเบราว์เซอร์ให้ปลอดภัยก็ยังมีอีกหลายวิธียอดนิยม อย่างใช้งานในโหมด incognito สำหรับเบราว์เซอร์ Chrome การเลือกเปลี่ยนมาใช้ เบราว์เซอร์ Tor หรือแม้กระทั่งเปลี่ยน seacrh engine อย่าง Google, Yahoo, Bing มาใช้ DuckDuckGo แทน สิ่งเหล่านี้ก็พอเป็นเทคนิคเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามการใช้อินเตอร์เน็ตให้ปลอดภัย ยังมีอีกหลากหลายวิธี ซึ่งผู้ใช้งานก็สามารถตั้งค่าได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง เพื่อให้ข้อมูลส่วนตัว การเข้าถึงรหัสผ่านปลอดภัยยิ่งขึ้น ที่สำคัญยังสนุกกับการใช้อินเตอร์เน็ต และท่องเว็บไซต์อย่างไร้ความกังวล

บทความที่เกี่ยวข้อง

  • 25 ธันวาคม 2024

    ปัจจุบันระบบ AI (Artificial Intelligence) มีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมการผลิตหรือการขนส่ง รวมไปถึงในด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญมากขึ้น เมื่อเหล่าแฮกเกอร์นำเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้มาใช้โจมตีในรูปแบบต่าง ๆ เพราะ AI มีสามารถเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ วิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำในเวลาอันรวดเร็ว จากข้อมูลอ้างอิงของ Check Point, Tanium, Darktrace และ Palo[...]

  • 20 ธันวาคม 2024

    LinkedIn แพลตฟอร์มที่กำลังนิยมในขณะนี้ ปัจจุบันเริ่มกลายเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ทำ Phishing ซึ่งมีแนวโน้มว่าปี 2025 จะกลายเป็นเครื่องมือหลักที่แฮกเกอร์ใช้โจมตี

  • 18 พฤศจิกายน 2024

    การอัปเดตซอฟต์แวร์เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ แต่บางครั้งก็มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เครื่องมือบางชนิดของผู้ใช้งานเกิดความผิดพลาดได้