แฮกเกอร์พาเราเข้าเว็บปลอม ด้วย DNS Hijacking ได้อย่างไร
15 สิงหาคม 2019
DNS คืออะไร สำหรับผู้อ่านบางท่านอาจจะไม่ได้สนใจกับความหมายของมันมากนัก แต่ถ้าบอกว่า ทุกครั้งที่เราเข้าเว็บไซต์หน้าใดหน้าหนึ่ง จะเป็นการส่งข้อมูลไปยัง DNS Server ทันที ก็จะพอเข้าใจความสำคัญของมันได้ เพราะหน้าที่หลักสำคัญของ DNS Server ก็คือการแปลงชื่อเว็บไซต์เป็น IP เพื่อเข้าไปถึง Server ที่อยู่ของหน้าเว็บไซต์นั้น ๆ แล้วถ้า DNS พาเราเข้าไปเว็บไซต์ปลอมของแฮกเกอร์แทนเว็บไซต์ของจริงจะเกิดอะไรขึ้น เราอาจจะกรอกข้อมูลที่มีความสำคัญเช่น รหัสผ่าน ส่งไปยัง Server ของแฮกเกอร์ก็เป็นไปได้
โดยผู้ใช้ที่ตกเป็นเหยื่อมักโดนหลอกลวงผ่านทางหน้าเว็บปลอม ต่าง ๆ เช่น Gmail, Netflix, PayPal ฯลฯ หากผู้ใช้งานเผลอกรอกข้อมูลส่วนตัวหรือเข้าสู่ระบบ ก็อาจถูกสวมรอยบัญชีหรือขโมยข้อมูลสำคัญ เช่น บัตรเครดิต หรือเลขบัญชีธนาคารได้ ถึงแม้ผู้ใช้งานจะพิมพ์ URL เว็บไซต์ดังกล่าวโดยตรงและถูกต้องแล้วก็ตาม
ประเภทของภัย DNS Hijacking ที่มักพบหลัก ๆ 4 ประเภทดังนี้
1. การแฮกที่ Router
เมื่อหากซื้อ Router ตัวใหม่มักจะถูกตั้งค่า ชื่อผู้ใช้งาน/รหัสผ่าน แบบ Default เป็นค่าเริ่มต้นจากโรงงาน เช่น ( Admin / 1234 ) ซึ่งผู้ใช้งานทั่วไปลืมหรือไม่ได้เปลี่ยนรหัสผ่าน อาจกลายเป็นช่องโหว่ที่แฮกเกอร์สามารถแฮกเข้าสู่ Router ได้โดยใช้รหัสผ่านที่เป็นค่าเริ่มต้น เพื่อเข้าไปปรับตั้งค่าชี้ DNS ไปยัง DNS Server ของ แฮกเกอร์ได้ หรือในบางครั้ง Router อาจมีช่องโหว่จนทำให้โดนแฮกเพื่อเปลี่ยน DNS ได้เช่นกัน
2. การแฮกเครื่องคอมฯ
แฮกเกอร์จะแอบติดตั้ง Trojan เครื่องคอมฯ เพื่อเปลี่ยนแปลงค่า DNS ในเครื่องเหยื่อ เมื่อเข้าใช้งานจะเปลี่ยนจุดหมายปลายทางไปยังเว็บไซต์ปลอมที่สร้างเหมือนเว็บจริงโดยที่เหยื่อไม่ทันสังเกต
3. การแฮก DNS Server
แฮกเกอร์ลอบเจาะ DNS Server ของ ISPs จากนั้นเปลี่ยนแปลงข้อมูล DNS โดยใช้หลักการเดียวกันกับข้อ 2 เมื่อเปลี่ยนข้อมูล DNS ผู้ใช้งานจะถูกเปลี่ยนจุดหมายปลายทางไปยังเว็บไซต์ที่เป็นอันตรายโดยทันทีหากไม่สังเกตอาจเสี่ยงหลุดข้อมูลสำคัญได้
4. การถูกแอบดักบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่าน
วิธีการนี้เรียกว่า Man in the middle (MiTM) โดยแฮกเกอร์จะดักจับข้อมูลระหว่างผู้ใช้และ DNS Server จากนั้นทำการเปลี่ยน IP Address ปลายทางไปยังเว็บไซต์ปลอมของแฮกเกอร์ อาจทำให้ถูกสวมรอยบัญชีและขโมยข้อมูลสำคัญได้เช่นเดียวกัน
วิธีป้องกัน DNS Hijacking
- ติดตั้งซอฟต์แวร์ความปลอดภัยและโปรแกรมป้องกันไวรัสที่น่าเชื่อถือและหมั่น Update ซอฟต์แวร์อย่างสม่ำเสมอ
- แนะนำให้ใช้ Public DNS Server เช่น Google DNS Server หรือ Cloudflare รวมทั้ง APNIC DNS Server
- หมั่นตรวจสอบเสมอว่าค่า DNS มีการแก้ไขหรือไม่
- อย่าลืมรีเซ็ตรหัสผ่านจากค่าเริ่มต้นของ Router เป็นรหัสที่ตั้งใหม่ทันทีที่ติดตั้ง รวมถึง Update เฟิร์มแวร์หรือลง Patch เพื่ออุดช่องโหว่ทั้งหมดที่มีอยู่ใน Router
- เปิดการรับรองการใช้งานแบบสองปัจจัย (2FA) หากใช้งานในเว็บของบริษัทที่รับจดทะเบียนโดเมน
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การเข้าเว็บไซต์แปลก ๆ และการดาวน์โหลดของซอฟท์แวร์ฟรีต่าง ๆ
- ตรวจสอบ URL ของเว็บไซต์ทุกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่เว็บไซต์ Phishing หากสังเกตว่าลิงก์ URL แปลก ๆ ให้ปิดเบราว์เซอร์ทันทีและตรวจสอบการตั้งค่า DNS เพื่อหาช่องโหว่ สังเกตง่าย ๆ URL ของเว็บไซต์ Phishing มักจะไม่นำหน้าด้วย https:// เนื่องจากไม่มีใบรับรอง SSL (Secure Sockets Layer)
- หลีกเลี่ยง Wi-Fi สาธารณะเมื่อต้องการเข้าสู่เว็บไซต์ที่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลการล็อคอิน หรือข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ
- ใช้บริการ VPN (Virtual Private Network) ซึ่งวิธีนี้นอกจากเป็นการป้องกันความเป็นส่วนตัวที่มีประสิทธิภาพสูง ยังช่วยป้องกัน DNS Hijacking ได้อีกทางหนึ่งด้วย
อ้างอิงที่มา:
https://cyware.com/news/dns-hijacking-attack-what-is-it-and-how-to-avoid-such-attacks-b46b0503
https://www.vpnmentor.com/blog/what-is-dns-hijacking-and-how-to-stop-it/
https://privacysniffs.com/blog/what-is-dns-hijacking-and-how-to-avoid-it/
บทความที่เกี่ยวข้อง