รู้หรือไม่ แฮกเกอร์มีกี่ประเภท
19 กรกฎาคม 2022
แฮกเกอร์ คือกลุ่มคนที่มีความรู้เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ หรือเชี่ยวชาญด้านการเจาะระบบ โดยส่วนใหญ่มักเป็นโปรแกรมเมอร์ที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการและโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อค้นหาช่องโหว่และเจาะระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความเสียหายให้กับหน่วยงาน/องค์กร ทำลายระบบ ขโมยข้อมูล หรือแม้กระทั่งช่วยทดสอบประเมินความเสี่ยงระบบเครือข่ายของลูกค้าเพื่อปรับปรุงแก้ไข ซึ่งในบทความนี้ทีมงานจะแนะนำให้รู้จักกับแฮกเกอร์ 10 ประเภท ว่ามีอะไรบ้างและแต่ละกลุ่มมีวัตถุประสงค์ ชื่อเรียกในประเภทต่าง ๆ อย่างไร
1.White Hat Hackers
ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ได้รับอนุญาตให้ละเมิดระบบอย่างถูกกฎหมาย โดย แฮกเกอร์กลุ่มนี้จะให้การช่วยเหลือรัฐบาล หรือบริษัทต่าง ๆ ในการเจาะระบบเพื่อพิจารณาว่าบริษัท/หน่วยงาน มีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด รวมถึงระบุจุดอ่อนและแก้ไขช่องโหว่เพื่อหลีกเลี่ยงการโจมตีจากภายนอก ซึ่งแฮกเกอร์กลุ่มนี้จะปฏิบัติตามกฎและข้อบังคับที่กำหนดโดยรัฐบาลซึ่งเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมาย
2.Black Hat Hackers
ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกัน แต่วัตถุประสงค์ของกลุ่มแฮกเกอร์กลุ่มนี้แตกต่างจาก White Hat Hackers อย่างสิ้นเชิง คือจะพยายามเข้าถึงระบบสารสนเทศเป้าหมายอย่างไม่ถูกต้อง เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลความลับทางธุรกิจ ข้อมูลทางการเงิน เป็นต้น ซึ่งหากสามารถเข้าถึงหรือควบคุมระบบได้ก็จะขโมยข้อมูลหรือสร้างความเสียหายให้กับระบบนั้นและยากที่จะตรวจสอบ และหลังจากนั้นก็จะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย เช่น ขายในตลาดมืด เรียกค่าไถ่
3.Gray Hat Hackers
แฮกเกอร์ประเภทนี้อยู่ตรงกลางระหว่าง White Hat Hackers กับ Black Hat Hackers
ซึ่งแฮกเกอร์ประเภทนี้ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล การที่จะแฮกอาจมีเจตนาดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่ก็มีความแตกต่างจากแฮกเกอร์ 2 ประเภทที่กล่างข้างต้นคือ แฮกเกอร์ประเภทนี้ไม่ต้องการขโมยหรือช่วยเหลือผู้อื่นแต่อย่างใด เพียงแต่ชอบเล่นกับระบบเพื่อค้นหาข้อบกพร่องเพื่อเอาชนะการป้องกันเพื่อฝึกฝนหรือเพื่อความบันเทิงส่วนตัวเท่านั้น
4.Script Kiddies
บุคคลที่ไม่ทราบวิธีการแฮกจะถูกเรียกว่า Script Kiddies เป็นกลุ่มผู้เข้าใหม่ใน
วงการแฮกเกอร์ พวกเขามักใช้โปรแกรมที่สร้างโดยแฮกเกอร์รายอื่นเพื่อพยายามเข้าสู่ระบบและคอมพิวเตอร์ เครือข่าย หรือเว็บไซต์ ซึ่งเป้าหมายของการเจาะระบบส่วนใหญ่ก็เพื่อทำให้ผู้อื่นสนใจเพียงเท่านั้น โดยการโจมตีจะเป็นแบบ DoS หรือ DDoS ซึ่งหมายความว่าเว็บไซต์ของเหยื่อผู้ถูกโจมตีจะมีการรับส่งข้อมูลจำนวนมากจนทำให้เว็บไซต์ล่มได้
5.Green Hat Hackers
แฮกเกอร์ประเภทนี้จะแตกต่างจาก Script Kiddies ตรงที่ประเภท Script Kiddies จะไม่เรียนรู้เทคนิคการเจาะระบบและการเขียนโปรแกรมแต่สนใจเพียงแค่ดาวน์โหลด ซื้อมัลแวร์ หรือซื้อเครื่องมือต่าง ๆ จากแฮกเกอร์ประเภทอื่น แต่ Green Hat Hackers แม้ว่าจะเป็นมือใหม่ในวงการแฮกเกอร์แต่จะเป็นผู้ที่ต้องการเรียนรู้การแฮกต่าง ๆ แฮกเกอร์ประเภทนี้อาจไม่มีความชำนาญมากพอที่ตระหนักถึงผลที่ตามมาจากเจาะระบบของตัวเอง
6.Blue Hat Hackers
แฮกเกอร์กลุ่มนี้โดยมากต้องการเจาะระบบเพื่อการแก้แค้นส่วนบุคคล เช่น นายจ้าง หน่วยงาน หรือ รัฐบาล ฯลฯ
7.Red Hat Hackers
แฮกเกอร์ประเภทนี้มีความคล้ายกับ White Hat Hackers แต่แตกต่างตรงมักที่จะเลือกเส้นทางที่รุนแรงหรือผิดกฎหมายเพื่อจัดการกับ Black Hat Hackers เช่น ทำลายเซิร์ฟเวอร์หรือปล่อยมัลแวร์ใส่แฮกเกอร์ที่เป็นภัยต่อสังคม
8.Hacktivist
เป็นกลุ่มของแฮ็กเกอร์นิรนามที่เข้าถึงไฟล์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของรัฐบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อจุดประสงค์ทางสังคมหรือการเมือง
9.State/Nation Sponsored Hacker
แฮกเกอร์ประเภทนี้ได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานของรัฐเท่านั้นเพื่อเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของอีกประเทศหนึ่ง ทักษะการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของแฮกเกอร์ประเภทนี้จะถูกใช้ในการดึงข้อมูลที่เป็นความลับจากประเทศอื่น ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภัยคุกคาม
10.Malicious Insider or Whistleblower
เป็นพนักงานของบริษัทหรือหน่วยงานของรัฐที่ต้องการเปิดเผยหรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่เป็นความลับขององค์กรที่ตนเองอยู่ เช่น แบล็กเมล์องค์กรด้วยกิจกรรมที่ผิดกฎหมายภายในองค์กรนั้น ๆ
รู้หรือไม่ แฮกเกอร์มีกี่ประเภท เป็นบทความที่รวบรวมขึ้นโดยหวังว่าผู้อ่านจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับแฮกเกอร์แต่ละประเภทที่มีเป้าหมายและความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ดังนั้น การรู้จักแฮกเกอร์ว่าแต่ประเภทเรียกว่าอะไร ก็จะช่วยให้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างเข้าใจมากขึ้น
เขียนโดย
เจตณัฐ นครเขตต์
นักศึกษาฝึกงาน จาก มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ที่มา:
บทความที่เกี่ยวข้อง