รู้ไว้ใช่ว่า Dos & Don’ts เมื่อจำเป็นต้องเล่นเน็ตผ่าน Wi-Fi สาธารณะ

28 กุมภาพันธ์ 2019

NT cyfence
NT cyfenceทีมงาน NT cyfence ที่พร้อมให้คำปรึกษา และ ดูแลความปลอดภัยให้กับทุกองค์กร อย่างครบวงจร ด้วยทีมงานมืออาชีพ

ทุกวันนี้ Wi-Fi สาธารณะมีให้บริการแทบทุกที่ ตั้งแต่ร้านกาแฟบ้านๆ ไปจนถึงโรงแรมสุดหรู เมื่อเราเชื่อมต่อเน็ตได้สะดวก ชีวิตของเราก็ง่ายขึ้นเยอะ ในหลายๆ ที่ เช่น สนามบินนานาชาติ ยังมีให้บริการฟรีเสียด้วยซ้ำ แต่เชื่อหรือไม่ว่าคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบว่า เบื้องหลังความสะดวกสบายเช่นนั้น Wi-Fi สาธารณะมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยอยู่มาก โดยเฉพาะการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวในอุปกรณ์ของเราไม่ว่าจะเป็น Notebook หรือมือถือ เนื่องจากข้อมูลที่รับ-ส่งผ่านเครือข่าย Wi-Fi สาธารณะมีความเสี่ยงจากการถูกดักจับโดยแฮกเกอร์ ได้ไม่ยาก

โดยทั่วไป เครือข่าย Wi-Fi สาธารณะ ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน มีอยู่ 2 ประเภท ดังนี้:

1. Unsecured Wi-Fi (เครือข่ายที่ไม่ปลอดภัย)

เครือข่ายที่ไม่ปลอดภัย ใครก็สามารถเชื่อมต่อได้หากอยู่ในรัศมีทำการของ Router โดยเครือข่ายไม่มีการตั้งค่าความปลอดภัยใด ๆ เช่น ไม่ต้องลงทะเบียนใช้งาน หรือไม่ต้องใช้รหัสผ่านเพื่อ Login เข้าเครือข่าย

2. Secured Wi-Fi (เครือข่ายที่ปลอดภัย)

ในทางตรงกันข้าม เครือข่ายที่ปลอดภัยนั้น ก่อนใช้งาน ผู้ใช้ต้องยอมรับเงื่อนไขข้อกำหนดต่างๆ ทางกฎหมายหรือต้องลงทะเบียนเพื่อรับรหัสผ่านก่อนที่จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายเท่านั้น นอกจากนี้ เครือข่ายที่ปลอดภัยอาจมีการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้งานหรือหากต้องการเชื่อมต่อฟรี ก็ต้องมีใบเสร็จสะสมเมื่อซื้อสินค้าจากร้านค้าจำนวนหนึ่งเพื่อขอรับรหัสผ่าน

ไม่ว่าจะใช้การเชื่อมต่อประเภทใดก็ตาม เราควรพิจารณาใช้เลือก Wi-Fi สาธารณะด้วยความรอบคอบและระมัดระวังประเด็นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสำคัญ

เรามาดูกันว่า สิ่งใดควรทำและสิ่งใดควรหลีกเลี่ยง (Dos & Don’ts) เมื่อต้องเชื่อมต่อ Wi-Fi สาธารณะ :

Do
Don’t
  • เชื่อมต่อกับ Wi-Fi สาธารณะที่ปลอดภัยทุกครั้งที่มีโอกาส ในกรณีที่ไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi สาธารณะที่ไม่ปลอดภัย ขอให้เลือกลักษณะการเชื่อมต่อ ที่ต้องใช้การ Login เข้าสู่ระบบหรือมีการลงทะเบียนเท่านั้น
  • ควรปิดฟังก์ชันการเชื่อมต่ออัตโนมัติ บรรดามือถือ Tablet หรือ Notebook ส่วนมากมีการตั้งค่าการเชื่อมต่ออัตโนมัติไว้ซึ่งช่วยให้เราสามารถเชื่อมต่อจากฮอตสปอตหนึ่งไปยังอีกอันหนึ่งได้อย่างราบรื่น ถึงแม้มีความสะดวก แต่การตั้งค่าค้างไว้เช่นนี้ ยังทำให้อุปกรณ์ของเราเชื่อมต่อกับเครือข่ายที่เราไม่รู้จักหรือไม่ต้องการเชื่อมต่อ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกแฮกได้ ควรปิดการตั้งค่าเหล่านี้โดยเฉพาะเมื่อเดินทางไปยังสถานที่ที่ไม่รู้จัก
  • เช็คการเชื่อมต่อสัญญาณ Bluetooth ของเราให้ดี ปกติ Bluetooth มักเหมาะใช้งานในบ้าน เพื่อเชื่อมกับอุปกรณ์ที่เรารู้จักดีเท่านั้น อย่างไรก็ตามการเปิด สัญญาณ Bluetooth ค้างไว้ในที่สาธารณะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เราได้ แฮกเกอร์สามารถแสกนค้นหาสัญญาณ Bluetooth ที่ไม่มีการตั้งค่าความปลอดภัยที่ดี เพื่อเข้าถึงข้อมูลภายในอุปกรณ์ได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย กรุณาปิดสัญญาณ Bluetooth ทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน ที่ทำงาน หรือพื้นที่ที่ปลอดภัย
  • เชื่อมต่อโดยผ่านเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Network – VPN) วิธีนี้เพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัวได้ดี เมื่อจำเป็นต้องใช้ Wi-Fi สาธารณะ บริการ VPN สามารถเข้ารหัสข้อมูลทั้งหมดที่เรารับ-ส่งในขณะที่ใช้ฮอตสปอต Wi-Fi สาธารณะ และช่วยปกปิด IP Address แท้จริงของเราได้
  • อย่าเชื่อมต่อกับ Wi-Fi สาธารณะที่ไม่ปลอดภัย เพื่อเข้าถึงบัญชีธนาคารออนไลน์หรือข้อมูลส่วนตัวที่เป็นความลับ แม้แต่เครือข่ายที่ปลอดภัยก็อาจมีความเสี่ยงจากการถูกแฮก จึงควรคิดให้ดีก่อนตัดสินใจเชื่อมต่อ
  • อย่าทิ้ง Notebook, Tablet หรือมือถือ ไว้ในที่สาธารณะโดยไม่มีใครเฝ้า เนื่องจากอาจจะมีคนขโมยอุปกรณ์ของเราไปหรือไม่ก็ถือโอกาสแอบดูข้อมูลในอุปกรณ์ของเรา ขณะที่เราไม่อยู่ และควรตั้งรหัสผ่านเพื่อเข้าถึง Notebook และมือถือด้วยเช่นกัน
  • อย่าเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi สาธารณะเพื่อซื้อของออนไลน์ เนื่องจากการซื้อสินค้าออนไลน์ต้องใช้ข้อมูลส่วนตัวรวมถึงบัญชีบัตรเครดิตและรหัสผ่านเพื่อ Login สู่ระบบของร้านค้า ยิ่งบนเครือข่าย Wi-Fi ที่ไม่ปลอดภัยด้วยแล้ว ยิ่งเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาด หันมาใช้การเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายมือถือจะปลอดภัยกว่า

ไม่ว่าจะเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายแบบใดก็ตาม การป้องกันระบบที่มีประสิทธิภาพย่อมดีกว่าการต้องตามแก้ไขปัญหาภายหลังจากถูกแฮก ดังนั้นควรตระหนักถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญก่อน ถ้าไม่มั่นใจว่าอยู่บนเครือข่ายที่ปลอดภัย ก็ไม่ควรใช้งานเครือข่ายนั้น ๆ และในกรณีที่จำเป็นต้องใช้งานอินเทอร์เน็ตจริง การเลือกใช้งานผ่านเครือข่ายมือถือเป็นทางออกที่ปลอดภัยที่สุด

อ้างอิงที่มา:

บทความที่เกี่ยวข้อง

  • 25 ธันวาคม 2024

    ปัจจุบันระบบ AI (Artificial Intelligence) มีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมการผลิตหรือการขนส่ง รวมไปถึงในด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญมากขึ้น เมื่อเหล่าแฮกเกอร์นำเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้มาใช้โจมตีในรูปแบบต่าง ๆ เพราะ AI มีสามารถเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ วิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำในเวลาอันรวดเร็ว จากข้อมูลอ้างอิงของ Check Point, Tanium, Darktrace และ Palo[...]

  • 20 ธันวาคม 2024

    LinkedIn แพลตฟอร์มที่กำลังนิยมในขณะนี้ ปัจจุบันเริ่มกลายเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ทำ Phishing ซึ่งมีแนวโน้มว่าปี 2025 จะกลายเป็นเครื่องมือหลักที่แฮกเกอร์ใช้โจมตี

  • 18 พฤศจิกายน 2024

    การอัปเดตซอฟต์แวร์เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ แต่บางครั้งก็มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เครื่องมือบางชนิดของผู้ใช้งานเกิดความผิดพลาดได้