สรุปสถิติภัยคุกคามประจำปี 2563 จาก ศูนย์ปฏิบัติการ Security Operation Center

15 กุมภาพันธ์ 2021

จารุณี กัมพลาวลี
จารุณี กัมพลาวลีทำงานด้าน IT security ชอบติดตามข่าวสารด้านความปลอดภัย และ พร้อมดูแลความปลอดภัยให้หัวใจของทุกคน การันตีด้วย certificate ด้านความใส่ใจ

ในตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงของการ Work from home เราจะเห็นภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์กร ธุรกิจและหน่วยงานทั่วโลก จนทำให้ได้รับความเสียหายในหลายด้าน ซึ่งหากองค์กรมีข้อมูลสถิติการโจมตีในอดีต ก็จะสามารถนำไปสู่การหาวิธีป้องกันได้ภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ไม่มากก็น้อย ทีมงานจากศูนย์ปฏิบัติการ Security Operation Center (SOC) ของ NT cyfence ได้รวบรวมข้อมูลการวิเคราะห์ภัยคุกคามปี 2020 ที่ได้เฝ้าระวังมาตลอดทั้งปี โดยจัดอันดับของภัยคุกคามไซเบอร์แต่ละประเภทตามจำนวนที่พบ ดังนี้

1. Authentication Failed

เป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นอันดับสูงสุด จากการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดพบว่า สาเหตุหลักมาจาก Human error คือผู้ใช้งานเองที่ลืมรหัสผ่าน เนื่องมาจากนโยบายการบังคับเปลี่ยนรหัสผ่านอย่างน้อยทุก 90 วัน หรือมาจากการฝัง User และ Password ไว้ในระบบแล้วไม่ได้ทำการ Update ภัยคุกคามชนิดนี้จะยังไม่มีอันตรายแต่อาจทำให้เกิดความน่ารำคาญใจแก่ผู้ใช้งานหรือเจ้าของระบบเท่านั้น โดยจากสถิติบางส่วนพบว่าเป็นการพยายามเข้าถึงระบบจากผู้ไม่หวังดีภายนอก (Brute-force attack) ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความเสี่ยงที่ผู้ดูแลระบบต้องให้ความสนใจ และต้องตรวจสอบว่า User ที่มีการพยายามเข้าถึงนั้นมีจริงหรือไม่ และได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงระบบเพียงใด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

2. Suspicious Activity

พฤติกรรมที่พยายามใช้ช่องทางต่าง ๆ ในการโจมตีเป้าหมายซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ (Vulnerability) ที่นักวิจัยเพิ่งมีการค้นพบหรือเป็นช่องโหว่ที่มีอยู่เดิมหากระบบเป้าหมายไม่ได้แก้ไขหรือปิดช่องโหว่ (Hardening) บางกรณีอาจละเลยจนเป็นการอนุญาตให้เข้าถึงเครือข่ายจาก IP Address ที่มีพฤติกรรมโจมตีระบบ การเปิด Known port โดยไม่จำกัดการเข้าถึงและการใช้งาน ซึ่งการละเลยสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นช่องทางให้ผู้ไม่หวังดีใช้โจมตีระบบและอาจตกเป็นเหยื่อของการโจมตีได้ทั้งสิ้น

3. Malware

มัลแวร์ ยังคงเป็นภัยคุกคามอันดับต้น ๆ ที่สามารถสร้างความเสียหายอย่างมากให้แก่องค์กรได้ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากพนักงานในบริษัทไม่มี awareness เรื่องความปลอดภัย หรือระบบต่าง ๆ ขององค์กรที่ไม่เข็มแข็ง แต่จากสถิตินั้นพบว่าสาเหตุหลักมาจากพนักงานขององค์กรที่ไม่ระมัดระวัง ขาดความตระหนักรู้ หรือลักลอบใช้งานบางอย่างที่ละเมิดนโยบายความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร

4. Intrusion Exploit

พฤติกรรมของผู้ไม่หวังดีพยายามโจมตีมายังเป้าหมายโดยตรงหลังจากได้ข้อมูลเบื้องต้นของเป้าหมายโดยการทำ Reconnaissance ค้นหา port ที่ถูกเปิดไว้ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการ แอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่องค์กรใช้งานรวมถึงช่องโหว่ของระบบ เมื่อมีข้อมูลเหล่านี้แล้วแฮกเกอร์จะทำการทดลองเจาะเข้ามายังเครือข่ายหากมีการป้องกันที่หละหลวมย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่นอน

5. Reconnaissance

พฤติกรรมพื้นฐานของการเจาะระบบที่แฮกเกอร์หรือผู้ไม่หวังดีจะกระทำการเพื่อหาข้อมูลเบื้องต้น เปรียบเสมือนโจรที่แอบดูลาดเลาบ้านของเราว่ามีช่องทางไหนที่พอจะเข้ามาขโมยของได้หรือไม่ซึ่งพฤติกรรมต่าง ๆ ของเจ้าของบ้าน เช่น เผลอเปิดประตูรั้วทิ้งไว้ หรือยามเฝ้าระวังไม่เข้มงวด เป็นต้น สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นช่องทางในการต่อยอดให้เหล่าแฮกเกอร์เข้าถึงระบบของเราได้

และเมื่อย้อนดูภัยคุกคามในปีที่ผ่านมา ที่เคยได้เขียนบทความไว้ สรุปสถิติภัยคุกคามประจำปี 2562 จาก SOC จะพบว่าระหว่างปี 2019 และปี 2020 มีความแตกต่างกันบ้าง โดยมีภัยคุกคามบางชนิดเพิ่มขึ้น บางชนิดลดน้อยลงและบางชนิดเคยไม่พบการโจมตี ดังนี้

  1. ภัยคุกคาม Authentication Failed ที่เป็นอันดับ 1 เช่นเดิม แต่จำนวนการพบลดลงจาก 55% เหลือ 41%
  2. Suspicious Activity เป็นภัยใหม่ พบการโจมตีสูงถึง 21 %
  3. Malware ลดลงจากปี 2019 เหลือ 17 % จาก 20 %
  4. Intrusion Exploit เพิ่มขึ้น 14 % จาก 4%
  5. Reconnaissance ลดลงเหลือ 2 % จาก 13 %

5 อันดับประเทศต้นทางที่มีพฤติกรรม Suspicious

พฤติกรรมการทำ Suspicious นั้น พบว่ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และจีน เท่ากัน ที่ 19 % รองลงมาคือ เนเธอแลนด์ ออสเตรเลีย และเม็กซิโก ตามลำดับ

5 อันดับประเทศที่มีพฤติกรรม Exploit

สถิติทางด้านการโจมตีมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา สูงเป็นอันดับ 1 ที่ 52 % รองลงมาคือจีน 14 % และรัสเซีย 9 %

3 รูปแบบการโจมตีที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด

1. Attack – Exploit Event after Recon Activity

การโจมตีหลังจากที่แฮกเกอร์ได้ทำการสำรวจข้อมูลของเป้าหมาย (Reconnaissance) การโจมตีด้วยรูปแบบนี้ได้รับความนิยมมากเนื่องจากมีโอกาสประสบผลสำเร็จสูงมากกว่าการเจาะระบบแบบไม่มีข้อมูลอะไรเลย เช่น เป้าหมายใช้ระบบปฏิบัติการอะไรและระบบนั้นมีช่องโหว่อะไรบ้าง, มี port ใดที่เปิดไว้ใช้งานบ้างหรือมีข้อมูลของผู้บริหารหรือไม่สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกแกะรอยได้จากโลกออนไลน์ทั้งสิ้น

2. Web exploit

การโจมตีไปยังเว็บไซต์/เว็บเซิฟเวอร์ของเป้าหมายผ่าน port มาตรฐาน 80 หรือ 443 ซึ่งมีความจำเป็นต้องเปิดไว้เพื่อให้บริการใช้งานเว็บไซต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้แฮกเกอร์จึงหาเทคนิคต่าง ๆ มาโจมตี

3. Code and Command Injection

อีกหนึ่งเทคนิคที่ใช้โจมตีเว็บไซต์ที่ไม่มีความปลอดภัยเพียงพอคือการทำ Code Injection เป็นการใช้ช่องโหว่ของเว็บแอปพลิเคชันทำให้สามารถแทรกซอร์สโค้ดแปลกปลอมลงไปเพื่อจุดประสงค์ตามต้องการ และเกิดจากการที่ไม่ทำการคัดกรองในการป้อนข้อมูล Input Validation และการแสดงผล Output ส่วน Command Injection จะเป็นการใช้ช่องโหว่ของระบบที่ทำให้สามารถประมวลผลคำสั่งที่ระบบปฏิบัติการได้ โดยเป็นการแทรกคำสั่ง Command ของระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ลงไปผ่านทางช่องทางการรับข้อมูลที่กรอกผ่านทางหน้าเว็บไซต์เพื่อนำไปประมวลผล เช่น การใช้คำสั่ง ls เพื่อแสดงรายการไฟล์ใน Linux หรือคำสั่ง dir ของ Windows เป็นต้น ดังนั้นการป้องกันคือการกำหนดรูปแบบของ Input ที่ควรจะเป็นซึ่งง่ายกว่าการกำหนดรูปแบบของสิ่งที่ห้ามใส่

5 อันดับ malware ที่ถูกพบมากที่สุด

  1. Trojan.Multi.BroSubsc.gen
    โทรจันชนิดหนึ่งที่ช่วยให้แฮกเกอร์สามารถฝัง Backdoor ไว้ในเครื่องเหยื่อ โดยช่องทางการแพร่กระจายมาจากการดาวน์โหลดโปรแกรมปลอม ไฟล์แนบหลอกลวง เว็บไซต์ที่ไม่ปลอดภัย หรือโฆษณาหลอกลวงต่าง ๆ จุดมุ่งหมายของโทรจันประเภทนี้คือการเก็บข้อมูลบนเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานโดยการแอบติดตั้ง Ramsomware หรือไวรัสอื่น ๆ เพื่อขโมยข้อมูลซึ่งความน่ากลัวของมัลแวร์ชนิดนี้คือ การดักปล้นเบราว์เซอร์และเริ่มแสดงโฆษณาที่แสนน่ารำคาญโดยใช้ข้อมูลจาก Browser History ซึ่งโฆษณาเหล่านี้ล้วนแฝงไปด้วยมัลแวร์
  2. HTML/ScrInject.B
    มักจะซ่อนตัวอยู่ตามหน้าเว็บต่าง ๆ ที่มีการใช้งาน Script หรือ Ifram tags ที่ไม่เหมาะสม เมื่อผู้ใช้งานเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ดังกล่าว Script เหล่านี้จะเปลี่ยนเส้นทางไปยังหน้าเว็บอื่นที่ไม่ปลอดภัย อาจถูกฝังมัลแวร์ หรืออาจจะทำการดาวโหลดมัลแวร์มายังเครื่องผู้ใช้งานโดยอัตโนมัติ
  3. Maze Ransomware
    Ransomware หรือ มัลแวร์เรียกค่าไถ่อีกชนิดหนึ่งที่ถูกพัฒนามาให้มีการทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น อันตรายมากขึ้น Maze Ransomware ต่างจาก Ransomware ทั่วไปคือจะทำการขโมยข้อมูลจากเครื่องของเหยื่อออกไปก่อนเพื่อเป็นเงื่อนไขในการเรียกค่าไถ่เพิ่มขึ้น จากนั้นจึงเข้ารหัสไฟล์ และสร้างเว็บไซต์เพื่อแสดงข้อความเรียกค่าไถ่ พร้อมทั้งแสดงข้อมูลบางส่วนที่ได้ถูกขโมยออกไป ทั้งยังมีการติดตั้งโปรแกรมป้องกันไม่ให้กู้คืนไฟล์ในเวอร์ชันก่อนหน้าถึงแม้จะมีการ Snapshots ไว้ก็ตาม (Prevent reversing) โดยพฤติกรรมที่เพิ่มความหวาดกลัวมากขึ้นก็คือ การขู่ว่าจะเผยแพร่ข้อมูลที่ได้ไปในอินเตอร์เน็ตหากเหยื่อไม่ดำเนินการชำระเงินภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งจะเห็นได้จากหลายหน่วยงานที่โดน Ransomware ชนิดนี้เล่นงานว่าคำขู่เช่นนี้ได้ผลดีทีมากเดียว เช่น ข่าว โดนทุกวงการ ล่าสุดธุรกิจกลุ่มเครื่องดื่มตกเป็นเหยื่อ Maze ransomware ,Cognizant ยืนยันตกเป็นเหยื่อ Maze ransomware แล้ว ,แฮกเกอร์ใช้ Maze Ransomware โจมตี LG Electronics ขโมยข้อมูล เป็นต้น คงไม่ใช่เรื่องดีแน่หากข้อมูลทางการค้า ความลับของบริษัท หรือข้อมูลลูกค้าถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน จึงทำให้บริษัทที่ตกเหยื่อ ยอมจ่ายเงินค่าไถ่ เพื่อแลกกับชื่อเสี่ยง ภาพลักษณ์ของบริษัท
  4. Win.Trojan.NetWiredRC
    โทรจันชนิดหนึ่งที่อนุญาตให้แฮกเกอร์สามารถเข้าควบคุมเครื่องเหยื่อได้ แฮกเกอร์อาจส่งอีเมลหลอกลวงพร้อมไฟล์แนบไปยังองค์กรเป้าหมายซึ่งอาจจะเป็นบิลค่าบริการสินค้าที่อยู่ใน zip file โดยที่ icon ของโปรแกรมนั้นดูเหมือนเป็นบิลสินค้าปกติทั่วไปเมื่อเหยื่อหลงเปิดดูก็จะถูกติดตั้งมัลแวร์ลงในเครื่องจากนั้นจะติดต่อออกไปยัง CnC server และแฮกเกอร์จะเข้าควบคุมเครื่องต่อไป
  5. Virus.Win32.Sality.gen
    ไวรัสอีกประเภทหนึ่งที่มีเป้าหมายคือ ไฟล์ปฏิบัติการบนวินโดว์ อันได้แก่ .exe .scr โดยการเข้าไปแฝงตัวเพื่อเพิ่มตัวเองเข้าไปยังไฟล์ .exe เมื่อเราทำการรันโปรแกรม ไวรัสก็จะถูกเปิดขึ้นมาทำงานด้วยเช่นกัน ไวรัสชนิดนี้จะเข้าไปแก้ไขค่า Registry และปิดกั้นการทำงานของโปรแกรม Antivirus รวมถึงการป้องกันด้านความปลอดภัยต่าง ๆ ของ Windows และแพร่กระจายผ่านทาง USB

จากข้อมูลสถิติภัยคุกคามของศูนย์ปฏิบัติการ Security Operation Center (SOC) ของ NT cyfence จะพบว่า การโจมตีนั้นยังคงมีความสอดคล้องกับสถิติของปี 2019 อาจจะแตกต่างกันในส่วนของลำดับ แต่ประเทศที่เป็นต้นทางของการโจมตีมากที่สุดยังคงเป็น สหรัฐอเมริกา ในส่วนของรูปแบบการโจมตีนั้นยังมีพฤติกรรมที่คล้ายเดิมเพียงแต่เพิ่มความรุนแรงและมูลค่าความเสียหายมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับหน่วยงานที่ต้องการเฝ้าระวังความปลอดภัยระบบเครือข่ายและเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ทีมงาน NT cyfence พร้อมให้คำปรึกษา/แนะนำ โดยติดต่อผ่านทาง www.cyfence.com/contact-us หรือโทร 1888

บทความที่เกี่ยวข้อง

  • 25 ธันวาคม 2024

    ปัจจุบันระบบ AI (Artificial Intelligence) มีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมการผลิตหรือการขนส่ง รวมไปถึงในด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญมากขึ้น เมื่อเหล่าแฮกเกอร์นำเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้มาใช้โจมตีในรูปแบบต่าง ๆ เพราะ AI มีสามารถเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ วิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำในเวลาอันรวดเร็ว จากข้อมูลอ้างอิงของ Check Point, Tanium, Darktrace และ Palo[...]

  • 20 ธันวาคม 2024

    LinkedIn แพลตฟอร์มที่กำลังนิยมในขณะนี้ ปัจจุบันเริ่มกลายเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ทำ Phishing ซึ่งมีแนวโน้มว่าปี 2025 จะกลายเป็นเครื่องมือหลักที่แฮกเกอร์ใช้โจมตี

  • 18 พฤศจิกายน 2024

    การอัปเดตซอฟต์แวร์เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ แต่บางครั้งก็มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เครื่องมือบางชนิดของผู้ใช้งานเกิดความผิดพลาดได้