เรื่องต้องห้ามถามผู้ช่วยส่วนตัว AI

19 กรกฎาคม 2024

จิตต์สุภา ฉิน (ซู่ชิง)
จิตต์สุภา ฉิน (ซู่ชิง)ซู่ชิง จิตต์สุภา ฉิน บรรณาธิการ ผู้ดำเนินรายการ และคอลัมนิสต์ไอทีผู้คลุกคลีกับเทคโนโลยีมาตั้งแต่เกิดจนโต ซู่ชิงมองว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องของเราทุกคน และคนที่ได้เปรียบคือคนที่เข้าใจมันก่อนใคร

ผู้ช่วยส่วนตัวสั่งการด้วยเสียงอย่าง Siri ของ Apple, Alexa ของ Amazon และ Google Assistant ของ Google อยู่คู่กับการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่มาประมาณ​ 10 กว่าปีแล้ว นี่ไม่ใช่ผู้ช่วยสั่งการด้วยเสียงเพียง 3 ค่ายที่มีแต่น่าจะนับได้ว่าเป็น 3 ค่ายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดและถูกฝังมาอยู่ในดีไวซ์หลากหลายรูปแบบที่จับจองพื้นที่ภายในบ้านและในชีวิตประจำวันของเรากันทุกวันนี้ 

ผู้ช่วยที่เก่งขึ้น

ช่วงแรกของการเปิดตัวผู้ช่วยเหล่านี้มีข้อจำกัดในการใช้งานมากมายที่ผู้ใช้ต้องทำความเข้าใจ เวลาจะสั่งการหรือถามข้อมูลอะไรเราต้องออกเสียงให้ชัด พูดผิดจะพูดใหม่ทันทีไม่ได้ พูดตะกุกตะกักไม่ได้ พูดแทรกขึ้นมากลางประโยคก็ไม่ได้ หรือถามอะไรไปแล้วอยากถามคำถามเพิ่มเติมในหัวข้อเดียวกันต่อทันทีก็ไม่ได้อีก ต้องเริ่มต้นเล่าเรื่องใหม่ทั้งหมด ประสบการณ์ที่ได้รับจึงใกล้เคียงกับการพูดคุยกับหุ่นยนต์มากกว่าการคุยกับมนุษย์ด้วยกัน

มาจนถึงทุกวันนี้ผู้ช่วยเหล่านี้เก่งกาจขึ้นกว่าเดิมมาก รองรับแทบทุกภาษาและสามารถสื่อสารได้อย่างเป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับการพูดคุยกับมนุษย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และแฝงตัวอยู่ในดีไวซ์ที่เราใช้งานอยู่แทบทุกประเภทตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงลำโพงอัจฉริยะและอุปกรณ์แวร์เอเบิล 

ตลาดที่ใหญ่ขึ้น

ผู้ช่วยส่วนตัวสั่งการด้วยเสียงคิดเป็นหนึ่งในการใช้งานหลักที่คนใช้มากที่สุดในหมวดหมู่ของเทคโนโลยีเสียงหรือ Voice technology แค่ในสหรัฐฯ ประเทศเดียวก็มีผู้ใช้งานผู้ช่วยส่วนตัวมากถึง 140 ล้านคนจากการเก็บสถิติในปี 2022 และคาดการณ์กันว่าขนาดของตลาดผู้ช่วยเสมือนจริงจะเพิ่มสูงขึ้นไปแตะ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2029 

เดือนมิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา Apple เพิ่งประกาศเปิดตัวสิ่งที่เรียกว่า Apple Intelligence หรือจำกัดความง่ายๆ ก็คือ AI ในแบบของ Apple เอง พร้อมกับคำสัญญาว่า Siri จะเก่งกาจและฉลาดเฉลียวขึ้นกว่าเก่า จะดึงข้อมูลสำคัญๆ มาจากแอปพลิเคชันที่หลากหลายขึ้น ตอบคำถามได้ดีขึ้น ที่สำคัญคือจะรู้จักผู้ใช้งานแต่ละคนเป็นอย่างดีเพราะ Siri จะสามารถเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลของเจ้าของ iPhone ได้ อย่างเช่น ถามว่าต้องไปรับคุณแม่ที่สนามบินกี่โมง Siri ก็จะไปดึงข้อมูลจากข้อความที่เราแชทกับแม่มาตอบเราได้ คล้ายๆ กับการมีเลขารู้ใจที่ฉลาดจริงๆ ประจำเครื่องอยู่ตลอดเวลา 

จุดเด่นอีกอย่างของการอัพเดตครั้งนี้คืออะไรที่ Siri ทำเองไม่ได้ ยังไม่รู้ หรือยังไม่เก่ง Apple ก็เปิดช่องไว้ให้ผู้ใช้งานสามารถข้ามไปเลือกใช้บริการ ChatGPT ได้เลย ไม่ต้องมาหงุดหงิดหัวเสียกับสิ่งที่ Siri ยังทำไม่ได้ นับเป็นความร่วมมือข้ามค่ายที่ทำให้ผู้ใช้งานได้ประโยชน์จากความสามารถของ AI อย่างเต็มที่

ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเลยที่เราจะได้เห็นคนใช้งานผู้ช่วยส่วนตัวประจำดีไวซ์กันเยอะขึ้นภายในเวลาอันรวดเร็ว ก่อนหน้านี้เราอาจจะแค่สั่งการสิ่งที่พื้นฐานมากๆ อย่างการสั่งให้ช่วยเปิดปิดอุปกรณ์สมาร์ทโฮม เช่นไฟหรือแอร์ หรือถามคำถามพื้นๆ ง่ายๆ อย่างถามถึงสภาพอากาศวันนี้ หรือถามตารางงานที่อยู่ในปฏิทินส่วนตัว 

เมื่อผู้ช่วยส่วนตัวของเราเก่งขึ้น เราก็จะเปิดใจให้มันมากขึ้น และจะกล้าสั่งการและร้องขอในสิ่งที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันเราก็จะไว้ใจว่าคำตอบที่เราได้รับจากผู้ช่วยส่วนตัวเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและน่าเชื่อถือที่สุด 

เมื่อเวลานั้นมาถึง ความสะดวกสบายจะไม่ใช่สิ่งเดียวที่เราจะได้รับ แต่มันอาจมาพร้อมกับความเสี่ยงทั้งภัยทางไซเบอร์และความเสี่ยงด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลด้วย 

เฝ้าฟังคำเรียก 24 ชั่วโมง

การเปิดใช้งานผู้ช่วยส่วนตัวสั่งการด้วยเสียงในอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟนหรือลำโพงมีข้อดีที่เด่นชัดที่สุดก็คือช่วยให้เราใช้งานฟังก์ชันในโทรศัพท์ของเราได้แบบที่เราไม่ต้องหยิบขึ้นมากดเอง ดังนั้นในกรณีที่เรามือไม่ว่าง อย่างเช่นกำลังขับรถ หรือทำอาหารอยู่ เราก็สามารถส่งเสียงเรียกผู้ช่วยให้จัดการธุระบางอย่างแทนให้ได้ราวกับมีผู้ช่วยที่อยู่กับเราทุกที่ 

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ช่วยส่วนตัวจะรับฟังคำขอและจัดการลงมือสิ่งที่เราสั่งให้ได้นั้นก็ต้องเริ่มจากการฟังสิ่งที่เราพูดก่อน 

เมื่อเราเริ่มพูดกับผู้ช่วยส่วนตัว มันจะเปลี่ยนคำพูดของเราให้กลายเป็นข้อความ จากนั้นก็จะวิเคราะห์ข้อความนั้นๆ ควบคู่กับข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น โลเคชัน เวลา หรือประวัติการโต้ตอบกันที่ผ่านมาในอดีต แล้วจึงจัดการตอบสนองต่อคำขอของเราให้ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว 

ผู้ช่วยส่วนตัวแต่ละค่ายจะมีสิ่งที่เรียกว่า wake word หรือคำที่เราใช้เพื่อเรียกให้ตื่น เช่นเมื่อเราพูดว่า Hey Siri หรือ Alexa ดีไวซ์จะรู้ทันทีว่าผู้ใช้งานกำลังต้องการสื่อสารด้วย และจะเริ่มบันทึกเสียงหลังจากที่ได้ยินคำเรียกนั้นๆ 

แม้ว่าอุปกรณ์ที่เราใช้จะไม่ได้บันทึกเสียงเราเอาไว้ตลอดเวลา แต่สิ่งที่มันจำเป็นต้องทำอยู่ตลอดคือการเงี่ยหูคอยฟังคำเรียกเพื่อเป็นสัญญาณให้เริ่มบันทึกเสียงหลังจากคำเรียกนั้น โดยที่อุปกรณ์บางอย่างก็เก็บไฟล์เสียงที่บันทึกเอาไว้ด้วย ผู้ใช้งานบางคนอาจเกิดความกลัวว่ามิจฉาชีพจะเข้าถึงไฟล์เสียงที่เป็นข้อมูลส่วนตัวที่มีความสำคัญได้ ซ้ำร้ายบ่อยครั้งผู้ช่วยส่วนตัวก็เผลอเข้าใจผิดคิดว่าบทสนทนาทั่วไปของเราเป็น wake word ที่มันต้องตอบรับและอาจลงมือบันทึกเสียงของเราไปโดยไม่ได้ตั้งใจ 

เมื่อชั่งน้ำหนักความเสี่ยงของการอาจถูกแอบบันทึกเสียงเอาไว้โดยไม่ยินยอมแล้ว 

ผู้ใช้งานบางคนอาจเกิดความรู้สึกหวาดหวั่นไม่สบายใจ ไม่รู้ว่าเรื่องส่วนตัวจะรั่วไหลออกไปเมื่อไหร่ ก็อาจจะเลือกปิดฟังก์ชันการใช้เสียงเรียกผู้ช่วยไปเลย ส่วนคนที่ชั่งน้ำหนักแล้วรู้สึกว่าเป็นความเสี่ยงที่พอยอมรับได้ก็อาจจะเดินหน้าใช้งานต่อไป แต่จะดีที่สุดถ้าเรารู้ว่าการใช้งานแบบไหนช่วยลดความเสี่ยงลงให้เหลือน้อยที่สุด

เพื่อความปลอดภัยอย่าถามสิ่งต่อไปนี้

การที่ผู้ช่วยส่วนตัวเข้าใจคำสั่งของเรามากขึ้นไม่ได้แปลว่าเราควรให้มันจัดการทุกอย่างในชีวิต มีหลายคำสั่งที่อาจจะนำมาซึ่งความเสี่ยง อันตราย และการหลุดรั่วของข้อมูลส่วนตัวได้ 

บทสนทนาระหว่างเรากับผู้ช่วยส่วนตัวแม้จะเกิดขึ้นภายในที่พักอาศัยของเราเองแต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีคนแปลกหน้ามาร่วมฟังด้วย ที่ผ่านมาก็มีรายงานออกมาว่าบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Google หรือ Amazon ให้พนักงานของบริษัทฟังเสียงสนทนาเพื่อเก็บข้อมูลสำคัญๆ โดยมีวัตถุประสงค์คือนำมาปรับปรุงให้ซอฟท์แวร์ทำงานได้ดีขึ้น 

แม้ทุกบริษัทจะยืนยันว่ามีมาตรการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลหลายชั้นและพนักงานจะไม่สามารถระบุตัวตนเจ้าของเสียงได้เลย แต่ในมุมมองของผู้ใช้งานก็ไม่สามารถวางใจได้เต็มที่ เคยมีรายงานข่าวว่าบันทึกเสียงที่พนักงานได้ฟังนั้นเต็มไปด้วยข้อมูลส่วนตัวที่มีความอ่อนไหวสูง อย่างเช่นข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีธนาคารที่บางครั้งก็มาพร้อมชื่อนามสกุล และมีแม้กระทั่งสิ่งที่ฟังดูเหมือนเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศด้วย 

ในปี 2019 Google เคยออกมายอมรับว่าไฟล์บันทึกเสียงสนทนาระหว่างผู้ใช้งานกับ Google Assistant มากถึง 1,000 ไฟล์ถูกพาร์ทเนอร์ของบริษัทแอบนำออกไปส่งต่อให้เว็บไซต์ข่าวในเบลเยียม แหล่งข่าวระบุว่าในบรรดาไฟล์เสียงที่หลุดออกไปนั้นมีเสียงที่มีความเป็นส่วนตัวสูง เช่นเสียงของผู้หญิงที่แสดงอาการโศกเศร้าเสียใจ หรือบทสนทนาที่คุยกันเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย โดยเว็บไซต์ข่าวดังกล่าวสามารถระบุตัวตนของเจ้าของเสียงในบางไฟล์ได้ด้วย 

นอกจากการหลุดรั่วจากทางบริษัทเทคโนโลยีเองแล้ว ไฟล์เสียงสนทนาที่ถูกเก็บเอาไว้ในดีไวซ์เองก็มีความเสี่ยงในการถูกแฮ้กได้เช่นกัน หรือบางครั้งผู้ช่วยส่วนตัวก็เข้าใจคำสั่งผิดและนำไปสู่ความเสียหายได้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากการใช้งานให้เหลือน้อยที่สุด ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเทคโนโลยีได้แนะนำและยกตัวอย่างบางสถานการณ์ที่เราไม่ควรเอ่ยปากขอให้ Siri หรือ Alexa จัดการให้

เรื่องที่อันตรายต่อตัวเอง

เราเติบโตมาในยุคที่ต้องมีการสอนกันมาโดยตลอดว่าไม่ควรวินิจฉัยอาการของตัวเองด้วยการเสิร์ชจาก Google แนวคิดเดียวกันนี้ก็ใช้ได้กับผู้ช่วยส่วนตัวสั่งการด้วยเสียงเช่นเดียวกัน แม้จะเป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะแค่เอ่ยปากถามว่าอาการที่เราเป็นอยู่น่าจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไรได้บ้าง แต่คำตอบที่ผิดพลาดอาจจะทำให้เราไม่ยอมไปหาหมอและไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที 

นอกจากการไม่ควรขอให้ผู้ช่วยส่วนตัววินิจฉัยอาการเจ็บไข้ได้ป่วยให้แล้ว อีกอย่างที่ไม่ควรถามคืออาหารอย่าง ผัก ผลไม้ เห็ด หรือพืชที่เราไม่รู้จักปลอดภัยที่จะรับประทานหรือไม่ มีพิษหรือเปล่าเพราะไม่มีอะไรที่สามารถรับประกันได้เลยว่าคำตอบที่เราได้รับจะถูกต้อง

เรื่องที่อันตรายต่อคนอื่น

วิธีการทำร้ายคน วิธีฆ่าคน วิธีสร้างระเบิด วิธีปรินท์ปืน ฯลฯ แม้เราอาจจะแค่อยากรู้อยากเห็น ไม่ได้ตั้งใจจะเอาข้อมูลที่ได้มาไปลงมือทำจริงๆ แต่บันทึกของการสั่งการเหล่านี้อาจจะย้อนกลับมาแว้งกัดและทำให้เราตกที่นั่งลำบากได้สักวัน

สั่งให้หาเบอร์-กดโทรออก

การช่วยหาเบอร์โทรศัพท์และกดโทรออกแทนให้เป็นหนึ่งในความสามารถที่ผู้ช่วยส่วนตัวประจำดีไวซ์สามารถทำได้และทำได้ภายในเวลาอันรวดเร็วด้วย เราอาจจะอยากประหยัดเวลาด้วยการให้ผู้ช่วยหาเบอร์โทรศัพท์ของคนหรือร้านค้าที่เราต้องการติดต่อและสั่งให้กดโทรออกแทนเราให้เลย 

ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดขึ้นอย่างเช่นผู้ช่วยหาเบอร์มาผิดเราก็อาจจะอับอายขายหน้านิดหน่อย แต่อันตรายจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณทันทีที่ผู้ช่วยส่วนตัวไปหยิบเบอร์ที่มิจฉาชีพปลอมแปลงเอาไว้แล้วดันให้ขึ้นไปอยู่ตำแหน่งบนสุดของผลลัพธ์การค้นหา 

เมื่อผู้ช่วยส่วนตัวกดโทรออกให้แทนเรา เราจะไม่มีโอกาสได้สังเกตเห็นความผิดปกติ หรือจับพิรุธได้เพราะเราไม่ได้เห็นเว็บไซต์ปลอมด้วยตาตัวเอง ในที่สุดเราอาจจะได้คุยกับมิจฉาชีพที่ปลอมตัวเป็นผู้ให้บริการโดยเราไม่เอะใจสงสัยเลย 

สั่งให้ลบไฟล์ในโทรศัพท์

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงการขอให้ Siri หรือ Alexa ช่วยลบอะไรบางอย่างในโทรศัพท์ของเรา อย่างเช่นการช่วยลบประวัติการค้นหาบนเว็บไซต์ ลบแอปพลิเคชัน หรือแม้กระทั่งลบภาพถ่ายที่ไม่ต้องการ เนื่องจากอาจเกิดความเข้าใจผิดในระหว่างการสั่งงานและอาจจะทำให้ผู้ช่วยส่วนตัวเผลอลบไฟล์ผิดจนอาจจะไปลบข้อมูลสำคัญที่เรียกกลับคืนมาไม่ได้ 

สั่งให้โอนเงิน

แอปพลิเคชันธนาคารบางแห่งอนุญาตให้ผู้ใช้งานเข้าถึงได้ผ่านการสั่งการผู้ช่วยประจำดีไวซ์ ผู้ใช้งานสามารถใช้เสียงสั่งการผู้ช่วยส่วนตัวให้ช่วยตรวจสอบยอดเงินคงเหลือในบัญชี ไปจนถึงการใช้เสียงสั่งให้โอนจ่ายเงินให้ได้ ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าถึงแม้จะเป็นฟีเจอร์ที่อำนวยความสะดวกสบาย แต่อาชญากรสามารถขโมยเสียงที่ผู้ใช้งานบันทึกไว้และนำไปใช้เพื่อสั่งให้ผู้ช่วยส่วนตัวโอนเงินออกจากบัญชีได้ง่ายๆ โดยที่ตัวมิจฉาชีพเองไม่ต้องมาอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันด้วยซ้ำ ดังนั้นการกดเข้าไปใช้งานเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันธนาคารด้วยตัวเองจะปลอดภัยที่สุด

ผู้ช่วยส่วนตัวขุมพลัง AI สำหรับทุกคน

เราอยู่ในยุคที่ได้เห็นการพัฒนาก้าวกระโดดของเทคโนโลยี AI และได้เห็นตัวอย่างมาแล้วมากมายว่า AI ช่วยทำให้ชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้นอย่างไรได้บ้าง ทั้ง Siri, Alexa, Google Assistant และผู้ช่วยจากค่ายอื่นๆ ต่างก็ขับเคลื่อนด้วย AI ทั้งสิ้นและผู้ช่วยเหล่านี้กำลังเก่งกาจขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน

Bill Gates เคยพูดเอาไว้ในปี 2023 ว่าแม้ในตอนนี้ยังเรียกได้ว่าซอฟท์แวร์ยังค่อนข้างทึ่มแต่เขาก็เชื่อว่าภายในอีก 5 ปีข้างหน้ามันจะเก่งขึ้นมากจนเราทุกคนจะมีผู้ช่วยส่วนตัว AI เป็นของตัวเอง มันจะฉลาดขึ้นชนิดที่สามารถรู้ความต้องการของเราและให้คำแนะนำได้ก่อนที่เราจะเอ่ยปากถามออกมาด้วยซ้ำ และนี่จะเป็นเสมือนผู้ช่วยส่วนตัวที่รู้จักแง่มุมต่างๆ ในชีวิตของเราไม่ต่างกับที่ผู้บริหารตำแหน่งสูงจะมีเลขาสักคนที่ทำงานด้วยกันมายาวนานจนรู้ใจกันและรู้ว่าในแต่ละสถานกาณ์ผู้ช่วยส่วนตัวจะต้องจัดการอะไรให้ได้บ้างโดยที่เจ้านายไม่ต้องเอ่ยปากสั่งเลย

ความสะดวกต้องมาพร้อมปลอดภัย-โปร่งใส

ถึงแม้ว่าวิวัฒนาการของ AI จะมาพร้อมกับความเป็นไปได้ที่น่าตื่นเต้นมากมายไปหมด แต่เช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่นๆ คือผู้ใช้งานอย่างเรามีหน้าที่ทำความเข้าใจว่าอะไรคือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นและใช้งานอย่างระมัดระวัง เริ่มต้นจากสิ่งที่บทความนี้ได้กล่าวถึงไปแล้วคือไม่ยกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยรวมถึงข้อมูลส่วนตัวที่มีความอ่อนไหวให้ผู้ช่วยส่วนตัว AI เป็นคนจัดการ คอยติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีพร้อมๆ ไปกับการช่วยกันเรียกร้องให้บริษัทเทคโนโลยีพัฒนาผู้ช่วยส่วนตัว AI ที่มีความปลอดภัยและโปร่งใสที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

  • 25 ธันวาคม 2024

    ปัจจุบันระบบ AI (Artificial Intelligence) มีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมการผลิตหรือการขนส่ง รวมไปถึงในด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญมากขึ้น เมื่อเหล่าแฮกเกอร์นำเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้มาใช้โจมตีในรูปแบบต่าง ๆ เพราะ AI มีสามารถเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ วิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำในเวลาอันรวดเร็ว จากข้อมูลอ้างอิงของ Check Point, Tanium, Darktrace และ Palo[...]

  • 20 ธันวาคม 2024

    LinkedIn แพลตฟอร์มที่กำลังนิยมในขณะนี้ ปัจจุบันเริ่มกลายเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ทำ Phishing ซึ่งมีแนวโน้มว่าปี 2025 จะกลายเป็นเครื่องมือหลักที่แฮกเกอร์ใช้โจมตี

  • 18 พฤศจิกายน 2024

    การอัปเดตซอฟต์แวร์เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ แต่บางครั้งก็มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เครื่องมือบางชนิดของผู้ใช้งานเกิดความผิดพลาดได้