จับผิด 7 ข้อ แอพปลอมหรือจริง ก่อนติดตั้งลงในมือถือ
3 กันยายน 2018
ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่สร้างขึ้นให้เราสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานเพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีแฮกเกอร์หัวใสที่พยายามหาช่องทางเพิ่มรายได้ให้ตนเองโดยการทำแอปพลิเคชันปลอมเพื่อหลอกขโมยข้อมูลหรือแพร่มัลแวร์ มีทางไหนที่เราจะสามารถตรวจสอบแอปพลิเคชันบน Google Play หรือ App Store ว่าเป็นแอพที่ต้องการจริง ๆ ไม่ใช่แอพหลอกลวง วันนี้เรามี 7 เทคนิคง่าย ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงจากแอปพลิเคชันปลอมมาฝาก เริ่มจาก
1. อย่าไว้ใจแอปพลิเคชันนอก Official Store
นี่เป็นข้อควรระวังเบื้องต้นเลย แต่ผู้ใช้งานกลับไม่ค่อยตระหนักถึงความสำคัญ ผู้ใช้ที่ใช้ในระบบ iOS ควรทำการดาวน์โหลดผ่านทาง App Store ส่วนผู้ใช้งานในระบบ Android ดาวน์โหลดผ่าน Google Play โดยควรดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน จาก 2 แหล่งนี้เท่านั้น การติดตั้งแอปพลิเคชันด้วยวิธีการอื่น ๆ นั้นเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะได้รับแอปพลิเคชันปลอมมา หรืออาจได้แอปพลิเคชันจริงมาแต่อาจจะแผงมัลแวร์มาด้วยก็ได้
2. เช็คคะแนนรีวิวแอปพลิเคชัน
อ่านรีวิวของแอปพลิเคชันก่อนกดดาวน์โหลดใช้งาน นี่เป็นอีกหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้เราตรวจสอบได้ว่าแอปพลิเคชันสามารถใช้งานได้จริง เพราะถ้าหากมีบางอย่างไม่ถูกต้อง หรือไม่จริงแล้ว จะมีผู้คนมาบ่นเพื่อรีวิวถึงการใช้งาน ซึ่งนั่นจะช่วยให้คุณปลอดภัยจากแอปพลิเคชันปลอมได้
3. อ่านรายละเอียดคำอธิบายของแอปพลิเคชันก่อนเลือกติดตั้ง
วิธีการเขียน ไวยากรณ์ และการใช้เครื่องหมายวรรคตอนไม่ถูกต้องเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจนว่า ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันดูไม่เป็นมืออาชีพ เพราะคำอธิบายแอปพลิเคชันเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ผู้พัฒนาสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้ติดตั้งในหน้า Official Store ได้ มืออาชีพควรตรวจสอบให้ถูกต้องก่อนเผยแพร่ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่บางทีอาจมีที่ผิดพลาดไปบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้จุดสังเกตในเรื่องอื่นมาใช้ในการพิจารณาร่วมด้วย
4. ตรวจเช็คว่าใครเป็นนักพัฒนาแอปพลิเคชัน
ชื่อเสียงเป็นเรื่องสำคัญ ที่นำมาซึ่งความน่าเชื่อถือในการติดตั้ง ก่อนทำการคลิกเพื่อทำการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใด ๆ ควรทำการเช็คที่มาก่อนว่าใครเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชันดังกล่าว โดยการค้นหาแอพที่นักพัฒนานั้นเคยพัฒนาไว้ มีผู้ดาวน์โหลดจำนวนมากน้อยเพียงใด และถ้ามีแอพที่มีความสามารถคล้าย ๆ กัน ควรเลือกติดตั้งแอพจากนักพัฒนาที่น่าเชื่อถือก่อนเป็นอันดับแรก
5. ดูเว็บไซต์หลักของนักพัฒนาแอปพลิเคชันนั้น ๆ
คุณจะทำอย่างไรเมื่อเจอแอปพลิเคชันที่น่าสนใจ แต่แอปพลิเคชันนั้นดันเป็นแอปพลิเคชันที่คุณไม่รู้จักชื่อเสียงของบริษัทนั้นเลย แนะนำให้คุณตรวจสอบเบื้องต้นก่อนว่าบริษัทมีรายละเอียดอยู่ใน Wikipedia หรือมีเว็บไซต์ Official หรือไม่ และอีกที่วิธีที่ง่ายที่สุดคือลองกดตรงลิงค์เว็บไซต์ของผู้พัฒนาใน App Store หรือใน Google Play ตามระบบปฎิบัติการโทรศัพท์ที่ใช้งานเพื่อทำการตรวจสอบ
6. ภาพ Screenshots ของแอปพลิเคชันต้องคมชัดไม่แตก
ควรให้ความสนใจกับรูปภาพ Screenshots ของแอปพลิเคชันที่จะดาวน์โหลดด้วย เพราะพวกแอปพลิเคชันปลอมส่วนใหญ่แฮกเกอร์จะทำการขโมยรูปมาจากที่ต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้งาน ทำให้รูปภาพไม่คมชัดต่างจากแอปพลิเคชันจริง ๆ จากผู้พัฒนาที่จะใส่ใจในส่วนนี้ ดังนั้นหากเจอแอปพลิเคชันที่ภาพไม่ชัด พิกเซลไม่ละเอียดให้คิดไว้ก่อนเลยว่าอาจเป็นแอปพลิเคชันปลอม แต่ก็อย่านิ่งนอนใจไปเพราะแฮกเกอร์บางคนก็ทำงานออกมาได้ละเอียดและแนบเนียนเพื่อหลอกลวงผู้ใช้งานเช่นกัน
7. ดูยอดการติดตั้งแอพ
มีความจริงที่เกี่ยวกับจำนวนตัวเลขให้เปรียบเทียบกันว่าระหว่างแอปพลิเคชัน ที่มีการติดตั้งมากกว่า 1,000,000 ครั้งกับ 1,000 ครั้ง ลองคิดดูว่าแอปพลิเคชันไหนที่น่าเชื่อถือมากกว่ากัน แต่การตรวจสอบด้วยวิธีนี้นั้นสามารถใช้ได้กับระบบ Android เท่านั้น เพราะสำหรับในระบบ iOS นั้นไม่มีการแสดงถึงจำนวนยอดในการติดตั้ง
แล้วควรทำอย่างไรต่อเมื่อพบกับแอปพลิเคชันปลอม
คุณควรรายงานเรื่องการปลอมแปลงที่พบ โดยถ้าพบใน Google Play ให้ไปที่ด้านล่างของคำอธิบาย และทำการคลิกที่การตั้งค่าสถานะถึงความไม่เหมาะสม จากนั้นคุณจะได้รับแบบฟอร์มในการแจ้งรายงานเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมไปยัง Google สำหรับ Apple นั้นกระบวนการอาจยากขึ้นเล็กน้อย โดยคุณต้องไปที่หน้ารายงานปัญหา และทำการลงชื่อเข้าใช้โดยใช้ Apple ID ของคุณ
เรื่องแอปพลิเคชันปลอมนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวที่เราควรตระหนัก แม้จะเป็นตัว Official เอง ก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลเกี่ยวกับเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของคุณ ดังนั้นก่อนทำการคลิกเพื่อดาวน์โหลดแอพอะไร ควรระมัดระวัง สังเกต และไตร่ตรองก่อนเพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของภัยร้ายประเภทนี้
ข้อมูลจาก: https://www.makeuseof.com/tag/avoid-fake-mobile-apps/
บทความที่เกี่ยวข้อง