แนะนำพ่อแม่ 12 วิธี ดูแลลูกในโลกออนไลน์

18 ตุลาคม 2019

NT cyfence
NT cyfenceทีมงาน NT cyfence ที่พร้อมให้คำปรึกษา และ ดูแลความปลอดภัยให้กับทุกองค์กร อย่างครบวงจร ด้วยทีมงานมืออาชีพ

อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางในการหาความรู้ และ ความบันเทิง ของทั้งเด็กหรือผู้ใหญ่ ซึ่งสำหรับเด็ก ๆ นั้น การได้รับการควบคุมดูแลจากพ่อแม่ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ควรปล่อยให้เด็กใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยลำพัง เพราะโลกอินเทอร์เน็ตแม้จะมีความรู้มากมายแต่อาจมีภัยแฝงอยู่มากเช่นเดียวกัน และที่สำคัญการห้ามไม่ให้ใช้งานเลยไม่ใช่ทางออกที่ดี

ดังนั้นพ่อแม่ควรสร้างจิตสำนึกที่ดีสอนให้ลูกรู้เท่าทันภัย ดีกว่าปิดกั้นเด็กจากสื่อออนไลน์และสื่อดิจิทัล ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ใกล้ตัวและเข้าถึงได้ง่าย ทั้งยังช่วยให้พ่อแม่ลูกสร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจ และ ความใกล้ชิด มากขึ้นด้วย
จากการสำรวจของ Center For Cyber Safety And Education พบว่า พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กที่อยู่ชั้น ป. 4 ถึง ม. 2 ในสหรัฐ ฯ กว่า 40% ชอบแชทกับคนแปลกหน้า อีก 53% ยอมรับว่าเปิดเผยเบอร์โทรให้อีกฝ่ายรู้ และที่น่าตกใจก็คือ 62% ของเด็ก ท่องเน็ตดูเว็บโป๊

เมื่อรู้ถึงความเสี่ยงที่ลูกหลานอาจต้องเผชิญ ในฐานะพ่อแม่หรือผู้ปกครองควรทำอย่างไรบ้าง เรามีเคล็ดลับมาฝากกัน ดังนี้

1. ให้การเล่นอินเทอร์เน็ตของลูก เป็นเวลาของครอบครัวด้วย

ไม่ควรปล่อยให้ลูกเล่นอินเทอร์เน็ตลำพัง ควรอยู่ใกล้ ๆ คอยแนะนำเว็บไซต์หรือเนื้อหาที่เหมาะสม ถือว่าเป็นการคอยสังเกตลูกไปในตัว ซึ่งเด็กจะรู้สึกอุ่นใจ กล้าพูด กล้าซักถามกับพ่อแม่มากขึ้น กลายเป็นการสร้างเวลาของครอบครัวไปด้วย

2. สร้างวินัยและกำหนดขอบเขตเวลาการเล่นเน็ต

กำหนดระยะเวลาในการเล่นของลูก เช่น บอกให้ลูกทำการบ้านให้เสร็จ ถึงจะให้เล่นอินเทอร์เน็ต 1 ชั่วโมง เป็นต้น ถือว่าเป็นการสอนให้ลูกมีความรับผิดชอบไปในตัว เมื่อทำได้ จะได้เล่นอินเทอร์เน็ตเป็นรางวัล

นอกจากนี้การกำหนดเวลา จะช่วยไม่ให้ลูกติดเล่นอินเทอร์เน็ต จนหลงลืมหน้าที่ของตัวเองไปด้วย

3. อย่าให้ลูกอยู่ในโลกออนไลน์จนลืมโลกแห่งความเป็นจริง

การสื่อสารบนโลกจริงสำคัญกว่าโลกออนไลน์มากนัก พ่อแม่ต้องอธิบายให้ลูกรู้ว่าโลกออนไลน์ มีประโยชน์และโทษอย่างไร เพื่อให้ลูกสามารถ วิเคราะห์ แยกแยะ และรู้ว่าโลกออนไลน์ไม่ได้สวยงามเสมอไป

4. อย่าแชทกับคนแปลกหน้า

ไม่ว่าจะโลกจริง หรือโลกออนไลน์ สำหรับเด็กแล้วคนแปลกหน้า ไม่ควรไว้ใจ อธิบายลูกให้รู้จักระมัดระวังภัยประเภทนี้ ย้ำกับลูกเสมอ ห้ามบอกชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร หรือชื่อโรงเรียน และคอยระวังอย่าให้มีการแอบนัดเจออีกฝ่ายหลังจากแชท

5. พ่อแม่ควรเรียนรู้เรื่องอินเทอร์เน็ตบ้าง

เรียนรู้วิธีใช้งานเบื้องต้นเพื่อสามารถสื่อสารกับลูกได้ ไม่จำเป็นต้องรู้ถึงขนาดว่าคอมพิวเตอร์ทำงานซับซ้อนอย่างไร เช่น การส่งอีเมล การเปิดเข้าแอปพลิเคชัน การดาวน์โหลด การดูข้อมูลทางเว็บเพจ เป็นต้น

6. สอนลูกให้รู้จักการใช้งานด้านอื่นๆที่เป็นประโยชน์

ควรสอนลูกถึงการใช้งานอื่นๆ นอกเหนือจากการเล่นอินเทอร์เน็ต เช่น การเรียนเขียนโค้ดออนไลน์ (www.code.org) การฟัง podcast สำหรับฝึกภาษาอังกฤษ เป็นต้น

7. ส่องดูพฤติกรรมการใช้งานผ่านบัญชีที่พ่อแม่สร้างให้

เพื่อให้การเล่นเน็ตของลูก อยู่ในสายตาของพ่อแม่ ควรสร้างบัญชีโซเชียลของเด็กโดยใช้อีเมลของพ่อแม่ในการสมัคร (Google Family Link) หากพบเห็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ผิดปกติจะได้ตักเตือนได้ทัน

อย่างไรก็ตามควรเคารพกฎระเบียบการใช้บริการบางอย่าง เช่น ข้อแม้การให้บริการแก่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งหากเป็นกรณีดังกล่าว ควรแนะนำให้เด็ก ๆ อดทนรอจนอายุถึงเกณฑ์ก่อน

8. สังเกตพฤติกรรมของลูก

การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไม่ลืมหูลืมตามีผลกระทบโดยตรงกับพฤติกรรม อาจทำให้ลูก มีความก้าวร้าว ฉุนเฉียว เห็นแก่ตัว หรือขาดความอดทน อย่าลังเลที่จะพูดคุยหรือสอบถาม หากพบแนวโน้มพฤติกรรมไปในทางที่ไม่ดี

9. หมั่นเช็คประวัติการท่องเว็บของลูก

หมั่นเช็คประวัติการเยี่ยมชมเว็บไซต์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ห่างจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม แนะนำและตักเตือนสม่ำเสมอ
หรือ ตั้งค่า “การควบคุมโดยผู้ปกครอง” (Parental Control) อย่าลืมดูไฟล์ประวัติการท่องเว็บที่ถูกลบไปแล้วด้วย และขอเหตุผลจากลูกด้วยว่าทำไมถึงลบประวัติ ฯ ออกไป

10. พ่อแม่ควรทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก

หากต้องการสอนลูกเกี่ยวกับภัยโลกออนไลน์ พ่อแม่จะต้องทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นก่อน เช่น ไม่ดูเว็บที่ไม่เหมาะสม ไม่แชทกับคนแปลกหน้า ไม่เปิดไฟล์ที่แนบมากับจดหมายของคนที่ไม่รู้จัก ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการทำร้ายผู้อื่น เป็นต้น

11. ตั้งค่า Search Engine จำกัดการเข้าถึงเนื้อหา หรือ ติดตั้งโปรแกรมบล็อกเว็บที่ไม่เหมาะสม

หากใช้ Google อย่าลืมเปิดการใช้งาน SafeSearch เพื่อปิดกั้นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก หรือ ติดตั้งโปรแกรมอื่นๆ เช่น โปรแกรมจำกัดเวลาใช้งาน โปรแกรมตรวจสอบอีเมล โปรแกรมตรวจสอบการสนทนาในห้องแชท โปรแกรมและถ่ายภาพหน้าจอการใช้ของลูก เป็นต้น แต่ก็ควรชี้แจงให้ลูกรู้ก่อนว่าเราทำอย่างนี้ เพื่อความปลอดภัยของลูกเอง

12. หากพบปัญหาร้ายแรงแจ้งผู้ให้บริการ และ เจ้าหน้าที่ตำรวจทันที

หากลูกเกิดอันตราย หรือหายตัวไป จากการเล่นโซเชี่ยล เช่น เลียนแบบพฤติกรรมรุนแรง แอบนัดเจอหลังจากแชทกับคนแปลกหน้า ฯลฯ ให้รีบแจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่เป็นสมาชิกอยู่ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที

อ้างอิงที่มา :
https://iamcybersafe.org/s/parent-research
https://www.ttspy.com/12-tips-for-keeping-your-kids-out-of-trouble.html
https://digitalguardian.com/blog/6-ways-keep-your-kids-safe-online
https://www.avg.com/en/signal/how-to-keep-your-children-safe-online

บทความที่เกี่ยวข้อง

  • 25 ธันวาคม 2024

    ปัจจุบันระบบ AI (Artificial Intelligence) มีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมการผลิตหรือการขนส่ง รวมไปถึงในด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญมากขึ้น เมื่อเหล่าแฮกเกอร์นำเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้มาใช้โจมตีในรูปแบบต่าง ๆ เพราะ AI มีสามารถเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ วิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำในเวลาอันรวดเร็ว จากข้อมูลอ้างอิงของ Check Point, Tanium, Darktrace และ Palo[...]

  • 20 ธันวาคม 2024

    LinkedIn แพลตฟอร์มที่กำลังนิยมในขณะนี้ ปัจจุบันเริ่มกลายเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ทำ Phishing ซึ่งมีแนวโน้มว่าปี 2025 จะกลายเป็นเครื่องมือหลักที่แฮกเกอร์ใช้โจมตี

  • 18 พฤศจิกายน 2024

    การอัปเดตซอฟต์แวร์เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ แต่บางครั้งก็มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เครื่องมือบางชนิดของผู้ใช้งานเกิดความผิดพลาดได้