10 วิธี ใช้งานบัตรเครดิต/เดบิต ให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ

10 ตุลาคม 2019

NT cyfence
NT cyfenceทีมงาน NT cyfence ที่พร้อมให้คำปรึกษา และ ดูแลความปลอดภัยให้กับทุกองค์กร อย่างครบวงจร ด้วยทีมงานมืออาชีพ

บัตรเครดิต และ บัตรเดบิต ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คนนิยมใช้มากขึ้น เพราะ ไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมากที่อาจเสี่ยงต่อการสูญหาย มีความสะดวกสบาย และ ยังมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้ถือบัตรจะได้รับ ( การสะสมแต้ม การสะสมไมล์ หรือส่วนลดต่าง ๆ ) และการสร้างประวัติทางการเงินที่ดีได้เช่นเดียวกัน

เมื่อมีผู้ใช้มาก ก็มีการถูกโจรกรรมมากเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาที่มีข่าวการถูกขโมยข้อมูลบัตรเครดิต ไม่ว่าจะถูกจดบันทึก ถูกถ่ายภาพหรือถูกคัดลอกบัตร ฯ ด้วยเครื่อง Skimming เช่น ใช้รูดบัตรเพื่อซื้อของ แอบถูกพนักงานจดข้อมูลบัตร กว่าจะรู้ตัว ก็ได้รับใบแจ้งยอดบัตรเครดิตจำนวนสูงจนน่าตกใจ ดังนั้น ควรมีขั้นตอนปฏิบัติเบื้องต้น เมื่อได้รับบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตในครั้งแรก เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของบัตรด้วยตัวคุณเเอง (หรือถ้าใช้งานอยู่แล้ว แล้วยังไม่ได้ทำก็ควรทำ) ดังต่อไปนี้

  1. เปิดใช้งานและเซ็นชื่อหลังบัตรใหม่ทันทีที่ได้รับ
  2. เปิดใช้งานแอปพลิเคชันสำหรับแจ้งเตือนยอดบัตรเครดิต SMS และ อีเมล
  3. อย่าเขียนหมายเลขบัตรเครดิตหรือรหัส ccv ไว้รวมกับรหัสบัตรอื่น ๆ

เป็นขั้นตอนง่ายๆ หลังจากได้รับบัตรเครดิต/เดบิตแล้ว แต่ก็ต้องระมัดระวังในการใช้งานด้วยเช่นกัน ทีม NT cyfence มี 10 วิธี ใช้งานบัตรเครดิต/เดบิตให้ปลอดภัยมาฝากกัน

1. หากไม่จำเป็น งดใช้บัตรเดบิต

บัตรเดบิต เป็นบัตรรูดซื้อสินค้าแทนเงินสดคล้ายบัตรเครดิต แต่ต่างกันตรงที่จะตัดเงินในบัญชีของเจ้าของบัญชีโดยตรง หากโดนฉ้อโกงบัตรเดบิต จึงยากที่จะได้รับเงินคืน ซึ่งในบางกรณีอาจหมายถึงเงินออมเลยทีเดียว ดังนั้นหากไม่จำเป็น งดใช้บัตรเดบิตจะดีที่สุด หรือหากต้องการใช้งาน สามารถเปิดใช้บริการ Virtual Credit Card (บัตรเครดิตเสมือน) จากธนาคารที่มีบัญชีเงินฝากอยู่ โดยจำกัดวงเงินใช้บริการให้แค่เพียงพอสำหรับชำระสินค้าหรือบริการนั้น

เพื่อเพิ่มความปลอดภัย แบงค์ชาติได้กำหนดยกเลิกใช้บัตร ฯ ที่เป็นแถบแม่เหล็กทุกใบหลัง 15 ม.ค. 2563 และเปลี่ยนมาใช้บัตรชิปการ์ดที่มีระดับความปลอดภัยสูงกว่าบัตรรูปแบบเก่า ซึ่งปลอมแปลง-โจรกรรมข้อมูลยาก หากใครที่ยังมีบัตรเดบิตรุ่นเก่าอยู่ให้รีบไปเปลี่ยนบัตร ฯ ใหม่โดยด่วน

2. อย่าปล่อยให้บัตรคลาดสายตา

การปล่อยให้บัตรเครดิตคลาดสายตาแค่แป๊บเดียว ก็อาจถูกขโมยข้อมูลบัตรได้ ดังนั้น ต้องคอยสังเกตบัตรของตัวเองอยู่เสมอ เมื่อยื่นให้พนักงานตอนจ่ายเงิน เพราะถ้าพบสิ่งผิดปกติจะได้รีบแก้ไขได้ทันท่วงที

3. เปิดใช้งาน โหมดไม่ระบุตัวตน เมื่อจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ

ในการทำรายการข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องใช้บัตรเครดิต เช่น หมายเลขบัตรเครดิตและรหัสผ่าน บนคอมพิวเตอร์สาธารณะ อาจถูกเก็บข้อมูลจากข้อมูลที่เก็บอยู่บนเครื่องได้ ดังนั้นควรเลือกใช้โหมดไม่ระบุตัวตน (Incognito) ในเบราว์เซอร์ เพื่อป้องกันการถูกบันทึกข้อมูลในขณะใช้งาน

4. อย่าบันทึกรายละเอียดบัตร ฯ ไว้กับเบราเซอร์

เบราว์เซอร์เช่น Chrome, Firefox หรือ Safari อาจเสนอการบันทึกรายละเอียดของบัตรเครดิตไว้เพื่อความสะดวก แต่นั่นคือ ความเสี่ยงของข้อมูลบัตร ฯ หากบัญชีนั้นถูกแฮก

5. อย่าใช้บัตรเครดิตกับเว็บไซต์ หรือ ร้านค้าออนไลน์ ที่ไม่น่าเชื่อถือ

การซื้อของออนไลน์ที่ใช้การตัดเงินผ่านบัตรเครดิต ก็เสี่ยงถูกขโมยข้อมูลเหมือนกัน ดังนั้น ควรเลือกเว็บไซต์ทางการ หรือ เว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ มีชื่อเสียง มีรีวิวการซื้อขายและการดูแลความปลอดภัยข้อมูลของลูกค้าเป็นอย่างดี

6. อย่าเปิดเผยข้อมูลบัตรเครดิตกับผู้อื่น

โดยเฉพาะกับผู้ที่โทรศัพท์แอบอ้างว่าเป็น เจ้าหน้าที่ธนาคาร เนื่องจากธนาคารเกือบทั้งหมดไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าทั้งทางโทรศัพท์หรืออีเมล ยกเว้นลูกค้าติดต่อเข้ามายังธนาคารเอง หากไม่มั่นใจควรสอบถามทางธนาคาร หากได้รับโทรศัพท์ หรือ อีเมลล์แปลก ๆ ที่ไม่น่าไว้ใจ

7. อย่าส่งอีเมล และ ระมัดระวังในการใช้โทรศัพท์ เมื่อจำเป็นต้องให้ข้อมูลบัตรฯ

แฮกเกอร์บางคนมีความสามารถในการใช้เครื่องมือค้นหา สแกน หาตัวเลขที่น่าจะเป็นบัญชีบัตรเครดิตได้ รวมทั้งควรระมัดระวังการสนทนาทางโทรศัพท์ในสถานที่พลุกพล่าน คนเยอะ เพราะอาจถูกคนอื่นแอบฟังข้อมูลบัตรเครดิตของเราได้

8. ปิดรหัสเลข 3 หลัก CVV

รหัส CVV คือเลข 3 หลักที่อยู่หลังบัตร เป็นรหัสการยืนยันตัวตนในการชำระเงินออนไลน์ และหากมิจฉาชีพได้รหัสนี้ไป ก็มีโอกาสที่จะนำไปซื้อสินค้าได้ง่าย ๆ การป้องกันเพียง จำตัวเลขหรือจดบันทึกรหัสไว้ในที่ปลอดภัย แล้วขูดรหัส CVV ด้านหลังบัตรทิ้ง หรือติดสติ๊กเกอร์ปิดรหัส CVV ไว้ ก็ได้เช่นกัน

9. ตรวจสอบรายการบัญชีอย่างสม่ำเสมอ

หากเป็นไปได้ให้ตั้งค่าการแจ้งเตือนการใช้บัตร ฯ ทางอุปกรณ์พกพา เช่น เปิดใช้งานแอปพลิเคชั่นบัตรเครดิต การแจ้งเตือนผ่าน SMS หรือ อีเมล เพื่อทราบสถานะของบัญชีอยู่เสมอ

10. ใช้บริการ Verified by Visa, MasterCard Secure Code หรือ JCB J/Secure

เป็นบริการที่ผู้ออกบัตรร่วมกับ Visa, MasterCard และ JCB พัฒนาขึ้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการชำระค่าสินค้าด้วยบัตรเครดิต โดยจะให้ใช้งานบัตรด้วยรหัสผ่าน (Password) และข้อความยืนยันส่วนตัว (Personal Assurance Message: PAM) เท่านั้น แม้จะมีคนขโมยบัตร หรือจำเลขบัตรไป ก็จะไม่สามารถนำไปใช้จ่ายออนไลน์ได้

กรณีที่พบว่าบัตรเครดิตสูญหาย หรือถูกขโมย ขั้นตอนง่าย ๆ เพียง 3 ขั้น ที่ต้องทำโดยด่วน ดังนี้

  1. โทรแจ้ง Call Center ของธนาคารเจ้าของบัตรเพื่อทำการแจ้งอายัดบัตรเครดิตโดยเร็วที่สุด
  2. แจ้งความที่ สน. ที่บัตร ฯ หายหรือถูกขโมย เพื่อให้ตำรวจลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และนำใบแจ้ง ฯ ไปยืนยันการอายัดบัตรกับธนาคารอีกครั้ง
  3. รวบรวมหลักฐานเพื่อแสดงตัวตน เช่น พยานบุคคลยืนยันว่า ณ เวลานั้นเราอยู่ที่ไหน ทำอะไร กับใคร และหลักฐานจากกล้องวงจรปิดของร้านค้า / สถานที่ต่างๆ หากเดินทางไปยังต่างประเทศก็อาจใช้ Passport ที่มีบันทึกข้อมูลการเข้า – ออกประเทศ

นอกจากนั้น ควรเจรจากับธนาคารเพื่อชะลอการชำระเงินตามใบแจ้งหนี้จนกว่ากระบวนการต่าง ๆ จะแล้วเสร็จ มิฉะนั้นจะเป็นการรับสภาพหนี้ไปโดยปริยาย

อ้างอิงที่มา:

https://www.weststarbank.com/tools-and-resources/15-ways-to-protect-your-credit-card
https://www.thebalance.com/difference-between-a-credit-card-and-a-debit-card-2385972
https://www.creditcardinsider.com/learn/credit-card-security/
https://www.finder.com/how-to-safely-use-a-credit-card-to-pay-for-online-purchases
https://bettermoneyhabits.bankofamerica.com/en/credit/credit-card-protection
https://moneyduck.com/th/วิธีรับมือกับบัตรเครดิตหาย
https://www.moneyguru.co.th/banking-finance/articles/บัตรเครดิตหาย-ทำยังไง/

บทความที่เกี่ยวข้อง

  • 25 ธันวาคม 2024

    ปัจจุบันระบบ AI (Artificial Intelligence) มีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมการผลิตหรือการขนส่ง รวมไปถึงในด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญมากขึ้น เมื่อเหล่าแฮกเกอร์นำเทคโนโลยีอัจฉริยะนี้มาใช้โจมตีในรูปแบบต่าง ๆ เพราะ AI มีสามารถเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ วิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำในเวลาอันรวดเร็ว จากข้อมูลอ้างอิงของ Check Point, Tanium, Darktrace และ Palo[...]

  • 20 ธันวาคม 2024

    LinkedIn แพลตฟอร์มที่กำลังนิยมในขณะนี้ ปัจจุบันเริ่มกลายเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ทำ Phishing ซึ่งมีแนวโน้มว่าปี 2025 จะกลายเป็นเครื่องมือหลักที่แฮกเกอร์ใช้โจมตี

  • 18 พฤศจิกายน 2024

    การอัปเดตซอฟต์แวร์เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ แต่บางครั้งก็มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เครื่องมือบางชนิดของผู้ใช้งานเกิดความผิดพลาดได้