ใช้โซเชียลอย่างมีสติ ถ้าไม่อยากโดน Cyberstalking
28 พฤศจิกายน 2019
การถูกสะกดรอยตาม ฟังดูอาจเป็นเรื่องน่ากลัวและไม่น่าเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ แต่หากสังเกตในชีวิตประจำวันของเราให้ดี มักจะใช้โซเชียลเป็นประจำ เพื่อทำธุรกรรม หรือ ติดต่อสื่อสาร แม้กระทั้งอัปเดตไลฟ์สไตล์ในแต่ละวันให้เพื่อน และ คนที่เรารู้จักทราบ แต่อาจลืมไปว่าบนโลกออนไลน์ไม่ได้มีแค่คนรู้จักเราเท่านั้น แต่ยังมีคนอื่น ๆ ที่อาจไม่ประสงค์ดีจนนำไปสู่การคุกคามบนโซเชียลได้ ยิ่งไปกว่านั้นอาจลุกลามไปสู่การคุกคามในชีวิตจริง เช่น ข่มขู่ทำลายชื่อเสียง ถูกคุกคามทางเพศ หรือการดักทำร้ายร่างกาย ไม่ใช้แค่เฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น หากเกิดขึ้นกับองค์กรก็ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือ ด้วยเช่นกัน
Cyberstalking ตามคำนิยามในพจนานุกรมของ Cambridge อธิบายไว้ว่า “ Stalking ” คือ อาชญากรรมที่สะกดรอยตามผู้อื่นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง “ Cyber ” คือ การกระทำที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ดังนั้น Cyberstalking เป็นพฤติกรรมที่ติดตามและสะกดรอยตามบุคคลหนึ่งบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการสอดส่อง ตลอดจนสะกดรอยตามไปยังสถานที่ที่เหยื่ออาศัยอยู่ ยกตัวอย่างกรณี ข่าวเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไอดอลสาวประเทศญี่ปุ่น Ena Matsuoka เป็นสมาชิกวง Tenshitsukinukeniyomi ถูกคนร้ายดักทำร้าย สาเหตุเกิดจากการที่เธอโพสต์ภาพถ่ายลงโซเชียล และคนร้ายใช้ภาพสะท้อนดวงตาของเธอ ในการตามหาและไปยังสถานที่ที่เธออยู่ ณ ตอนนั้น หากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ผู้ถูกกระทำสามารถเอาผิดได้ หากรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย
แนวทางการป้องกันตนเองจากภัย Cyberstalking ทำได้อย่างไรบ้าง
-
ไม่โพสต์ทุกอย่างลงในโซเชียล
หากใช้โซเชียลเพื่อต้องการอัปเดตไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวันให้เพื่อนและคนที่รู้จักทราบ เช่น การถ่ายรูป ควรปิด Geo-tagging หรือปิด Metadata ของรูปถ่ายเพื่อปกปิดข้อมูลส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับภาพถ่าย หรือ การเช็คอินสถานที่ หลีกเลี่ยงการเช็คอินสถานที่ ใกล้ๆที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันผู้ไม่หวังดีตามมายังสถานที่ที่ของเราอาศัยอยู่
-
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในบัญชีออนไลน์ทั้งหมด
จำกัดการแชร์เฉพาะกลุ่มคนที่วางใจได้เท่านั้น เช่น สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท ตั้งค่าไม่ให้โปรไฟล์ปรากฏเมื่อมีคนค้นหาชื่อของเรา รวมทั้งป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเห็นโพสต์และรูปภาพได้
-
ระวังการถูกลักลอบเข้าระบบบัญชี เมื่อใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ
บางครั้งเมื่อเราจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ ควรระมัดระวังเรื่อง Malware ต่าง ๆ เช่น Keylogger หรือแม้กระทั่ง Stalkerware เพราะอาจถูกแอบติดตามพฤติกรรมออนไลน์ได้ ทำให้สามารถอ่านข้อความต่าง ๆ เห็นกิจกรรมต่าง ๆ บนหน้าจอ ทราบโลเคชันผ่าน GPS และแอบเปิดกล้องเพื่อการสอดแนม
-
ใช้ VPN ทุกครั้งเมื่อใช้งานบนเครือข่ายสาธารณะ
เพื่อความปลอดภัยควรใช้ VPN เป็นเครือข่ายเสมือนจริง (Virtual Private Network) เมื่อต้องการเข้าชมเว็บไซต์ หรือบริการออนไลน์ใด ๆ
-
Log-out ออกจากระบบทุกครั้ง
เมื่อใช้เครื่องคอมพิวเตอร์สาธารณะ หรือ ในบริษัท ควรทำการ Log-out ออกจากระบบทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน และควรล็อคหน้าจอทุกครั้งที่ไม่อยู่โต๊ะถ้าเป็นไปได้ควรตั้งค่าการใช้ Screen Saver พร้อมรหัสผ่านทันทีที่ไม่ได้อยู่หน้าจอ
-
ตั้งรหัสผ่านให้ซับซ้อนและคาดเดายาก
ควรตั้งรหัสให้มีความยาว 12 -14 ตัวอักษร ขึ้นไป โดยมีตัวอักษรใหญ่ – ตัวอักษรเล็ก-ตัวเลข รวมกัน เพื่อความความปลอดภัยของ
บัญชีออนไลน์ต่าง ๆ -
ลงโปรแกรมแสกนไวรัสและมัลแวร์บนเครื่องคอมพิวเตอร์
เพื่อช่วยป้องกันภัย Cyberstalking หากถูกแอบติดตั้ง Stalkerware หรือ Spyware บนคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั้งไวรัส และ มัลแวร์ ตัวอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
-
อย่าแชร์รหัสผ่านบัญชีออนไลน์ต่าง ๆ ให้คนที่รู้จักทราบ
ระวังเรื่องการแชร์รหัสผ่านบัญชีโซเชียลกับใครก็ตาม ซึ่งอาจถูกลักลอบเข้าระบบและสร้างความเสียหาย เช่น คนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือ อดีตคนรัก ไม่ว่าจะลงเอยด้วยการแยกทางแบบใดก็ตาม ทางที่ดีควรเปลี่ยนรหัสผ่านบัญชีออนไลน์ ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยใหม่ทั้งหมดทุกครั้งที่มีคนรู้จักทราบ
หากถูกคุกคามจาก Cyberstalking แล้ว ในฐานะเหยื่อควรดำเนินการอย่างไร
- ตั้งสติและรวบรวมหลักฐานให้ได้มากที่สุด เช่น ภาพถ่ายที่ถูกแบล็คเมล์ แชทข้อความ หน้าบัญชีคนร้าย ข้อมูลคนร้าย ฯลฯ
- เปลี่ยนอีเมลและรหัสผ่านบัญชีออนไลน์ทั้งหมด
- แจ้ง Help Center ของผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง เช่น Facebook
- อย่าตอบโต้หรือนัดพบกับ Cyberstalker เด็ดขาด
- ติดต่อสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุทันที
Cyberstalking เข้าข่ายผิดกฎหมายข้อใดและสามารถแจ้งความได้ที่ใด
ถึงแม้ประเทศไทยยังไม่มีตัวบทกฎหมายที่เอาผิด Cyberstalker โดยเฉพาะ เหมือนบางประเทศในแถบตะวันตก แต่พฤติกรรมเช่นนี้ หากเป็นเพียงแอบส่องดูเฉย ๆ อาจจะไม่เกิดความเสียหายชัดเจน แต่ถ้ามีการพัฒนาขึ้นเป็นการคุกคามทางกายภาพที่ทำให้เหยื่อรู้สึกเดือดร้อน รำคาญ และรู้สึกไม่ปลอดภัย อาจเข้าข่ายฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 – ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท ฯลฯ
ในกรณีมีการลอบเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของเหยื่อด้วยจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2560 ตามมาตรา 5 ถึง มาตรา 8 ว่าด้วยการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลฯ ของผู้อื่นโดยไม่ชอบซึ่งต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 2 ปี และ/หรือปรับสูงสุด 4 หมื่นบาท
หากต้องการดำเนินคดีแนะนำให้รวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เพื่อแจ้งความ ณ สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ สถานีตำรวจนครบาล สถานีตำรวจภูธร หรือ ร้องทุกข์ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ก็ได้เช่นกัน
อ้างอิงที่มา:
https://us.norton.com/internetsecurity-how-to-how-to-protect-yourself-from-cyberstalkers.html
https://www.tripwire.com/state-of-security/security-awareness/what-cyberstalking-prevent/
https://www.facebook.com/help/116326365118751
https://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/stalking
https://www.lawphin.com/detail/law/penal_code-397
https://contentshifu.com/computer-law/
บทความที่เกี่ยวข้อง