อย่าเชื่อ!! กำไรสูงความเสี่ยงต่ำไม่มีจริง – รู้ทัน “แชร์ลูกโซ่” ในโลกออนไลน์

6 พฤศจิกายน 2019

NT cyfence
NT cyfenceทีมงาน NT cyfence ที่พร้อมให้คำปรึกษา และ ดูแลความปลอดภัยให้กับทุกองค์กร อย่างครบวงจร ด้วยทีมงานมืออาชีพ

กลโกงทางออนไลน์อีกรูปแบบหนึ่ง กำลังเป็นที่สนใจต่อใครหลาย ๆ คน ณ ตอนนี้ คือ “แชร์ลูกโซ่” เป็นกลโกงที่แอบอ้างเรื่องผลกำไรจากการลงทุนจำนวนมากเกินจริงในระยะเวลาอันรวดเร็ว แถมรับประกันว่าไม่มีความเสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตามยุคสมัยมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันได้อาศัยสื่อออนไลน์ที่มียอดผู้เข้าใช้สูงเช่นโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เป็นหลักในการโฆษณาหาเหยื่อ กลโกงรูปแบบนี้มักสร้างหลักฐานเท็จเพื่อล่อลวงให้คนหลงเชื่อ เช่น สลิปโอนเงินจำนวนหลาย ๆ คน จากเท้าแชร์ หรือ รูปถือธนบัตร เป็นต้น แต่ผลตอบแทนจำนวนมากนั้นไม่ได้เกิดจากการนำเงินไปลงทุนแต่อย่างใด เป็นเพียงการนำเงินจากเหยื่อรายใหม่มาจ่ายให้เหยื่อรายเก่าเป็นทอด ๆ คล้ายลูกโซ่ เมื่อเงินสดเริ่มสะดุดจากการหมุนเงินไปจ่ายไม่ทัน เท้าแชร์หยุดจ่าย วงแชร์ก็จะแตก ตัวอย่างเช่น แชร์แม่มณี ที่กำลังตกเป็นข่าว

แชร์ลูกโซ่ ยังมีอีกหลายกรณี ที่ใช้วิธีเดียวกันแต่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย เช่น ลงทุนซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (FOREX) หรือ ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (เงินคริปโต, Bitcoin) ฯลฯ ดังนั้นหากพบโฆษณาชวนเชื่อการลงทุนด้านการเงิน ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบ โดยขอให้จำไว้ให้ขึ้นใจเลยว่า การลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงน้อยนั้นไม่มีจริง ถ้าเจอข้อความชวนเชื่ออะไรแบบนี้ควรเลี่ยงจะปลอดภัยที่สุด

ก่อนลงทุนควรอ่านและไตร่ตรองให้เข้าใจเสียก่อน อย่าโลภ อย่าเชื่อคนง่าย

แม้ว่าบทความเรื่องแชร์ลูกโซ่จะไม่เกี่ยวกับด้านความปลอดภัย IT โดยตรงเท่าไหร่นัก แต่ด้วยระยะหลัง ๆ ช่องทางที่ใช้หลอกลวงจะทำผ่านทางออนไลน์เป็นส่วนมาก และผลกระทบก็มีความรุนแรง จึงต้องการเป็นอีกช่องทางหนึ่งเพื่อที่จะเตือนคนทั่วไปให้ระมัดระวังการหลอกหลวงประเภทนี้ NT cyfence จึงมีเทคนิค 6 ข้อแนะนำในการช่วยคัดกรองการลงทุนใด ๆ ที่อาจเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่มาฝาก

1. อย่าหลงเชื่ออะไรง่าย ๆ

การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากมายมหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว มีความเสี่ยงน้อยหรือแทบไม่มีเลยนั้น มันไม่มีในโลก ถ้ามาในแนวนี้คือฉ้อโกงแน่นอน ตัวอย่างเช่น ย้อนหลังไปเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน แชร์แม่ชม้อย ให้ผลตอบแทน 6.5% ต่อเดือนหรือแชร์ชาร์เตอร์ดซึ่งให้ผลตอบแทน 9% ต่อเดือน หรือคิดเป็นผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 100% ต่อปี!

แล้วผลตอบแทนที่สมเหตุสมผลควรอยู่เท่าไร? เมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนการลงทุนย้อนหลัง 10 ปี (2551 – 2560) การลงทุนในหุ้นไทยซึ่งให้ผลตอบแทนสูงแต่มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ก็ยังให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 11.61% หรือคิดเป็นไม่ถึง 1% ต่อเดือนเท่านั้น

  • หุ้นไทย = 11.61% (ความเสี่ยงสูง)
  • พันธบัตรรัฐบาล = 5.15% (ความเสี่ยงต่ำ)
  • ทองคำ = 4.50% (ความเสี่ยงปานกลาง)
  • เงินฝากประจำ 1 ปี = 1.73% (ตวามเสี่ยงต่ำ)

ในความเป็นจริง หากมีแชร์ลูกโซ่ที่เสนอผลตอบแทนเพียง 1% ต่อเดือน เท่ากับลงทุน 1,000 บาทได้ผลตอบแทนเดือนละเพียง 10 บาท ย่อมไม่มีใครที่ไหนสนใจแน่นอน

2. ชวนสัมมนาเรื่องการลงทุนฟรี

โฆษณาออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อเชิญเข้าร่วมงานสัมมนาเรื่องการลงทุนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พวกนี้เข้าข่ายหลอกลวงทั้งสิ้น เหยื่อเป้าหมายมักเป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่ใกล้วัยเกษียณ รวมทั้งผู้ที่ว่างงาน บ้างก็มาในรูปแบบ หลอกล่องานสบาย ๆ เพียงตอบแชทลูกค้าเพื่อรับเงินเป็นหลักพันหลักหมื่นบาท แต่แท้ที่จริงคือ การล่อหลอกให้ไปรับฟังแผนงานกำมะลอที่ลงเอยด้วยการที่เหยื่อเป็นฝ่ายเสียเงินแทน บ่อยครั้งมิจฉาชีพมีทีมงานมืออาชีพที่มีจิตวิทยาโน้มน้าวเหยื่อได้เป็นอย่างดี

3. เช็คโปรไฟล์ของผู้ชี้ชวนลงทุนให้ดี

มิฉาชีพนิยมอ้างว่าเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ควรตรวจสอบว่าผู้ชี้ชวนได้รับใบอนุญาตใด ๆ หรือไม่ หรือค้นหาข้อมูลเชิงลบทาง Google เนื่องจากอาจมีเหยื่อในอดีตได้แฉเอาไว้

4. ตรวจสอบการลงทุนที่ถูกต้องตามกฎหมาย

สำหรับธุรกิจรับฝากเงิน ซื้อขายเงินตรา ตปท. ทาง ธปท. อนุญาตเฉพาะธนาคารพาณิชย์และนิติบุคคลที่ไม่ใช่ธนาคาร ฯ สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ตาม URL ข้างล่าง

https://www.bot.or.th/Thai/FinancialInstitutions/WebsiteFI/Pages/InstList.aspx

สำหรับการเทรดหุ้นหรือซื้อขายหน่วยลงทุน ต้องได้รับอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์โดยมีบริษัทสมาชิกที่ได้รับอนุญาต ดังนี้

  • https://www.set.or.th/set/memberlist.do
  • https://market.sec.or.th/public/orap/COMPANYPROFILE03.aspx

5. ต้องเข้าใจและรู้จักการลงทุนนั้น ๆ

อย่านำเงินไปลงทุนในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ ปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลออนไลน์มากมายที่ช่วยให้เรียนรู้วิธีการลงทุนและวิธีประเมินโอกาส ความเสี่ยงและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น แนะนำว่าอย่าโอนเงินเร็วเกินไปหรือเปิดบัญชีสมาชิกง่าย ๆ เจ้าใดที่ไม่ค่อยตอบคำถามให้ชัดเจนหรือพยายามที่จะเลี่ยงอธิบายโดยอ้างเรื่องความลับบางอย่าง หรืออธิบายได้ซับซ้อนเกินไปจนไม่เข้าใจ ควรเลี่ยง

6. แจ้งหน่วยงานของรัฐเมื่อสงสัยว่าพบแชร์ลูกโซ่

หากพบเห็นการลงทุนที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ อาจเป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือ หากตกเป็นเหยื่อให้ร้องเรียนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษตามช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

  • ติดต่อด้วยตนเองที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
  • ติดต่อผ่านสายด่วน 1202 หรือ 02-831-9888
  • ติดต่อผ่านเว็บไซต์ www.dsi.go.th หรือ opm.1111.go.th
  • ติดต่อผ่าน facebook.com/DSI2002
  • ติดต่อผ่านตู้สีขาว “DSI”
  • ติดต่อผ่านศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาคทั่วประเทศ
  • ติดต่อผ่าน Mobile Applciation ชื่อ ‘DSI Map Extended’

ความผิดทางกฎหมายสำหรับแชร์ลูกโซ่

  • มีความผิดตาม พรบ. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน 2527 ตามมาตรา 4, 5 และ 12 โดยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 10 ปีและปรับ 5 แสนถึง 1 ล้านบาท
  • ผิดกฎหมายอาญา มาตรา 341 และ 343 ฐานฉ้อโกงและฉ้อโกงประชาชนตามลำดับ โดยมีโทษสูงสุดไม่เกิน 7 ปีและปรับไม่เกิน 14,000 บาท
  • เข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่าลืมว่าแชร์ลูกโซ่อาศัยเครือข่ายของสมาชิกหลอกเหยื่อเป็นทอด ๆ ดังนั้น หากท่านเป็นหนึ่งในสมาชิกวงแชร์ที่ได้รับเงินจากเหยื่อคนอื่นอีกทอดหนึ่ง ท่านอาจเข้าข่ายถูกดำเนินคดีได้ในฐานเป็นผู้รับฝากเงิน เข้าข่ายหลอกลวงประชาชนด้วยเช่นกัน

อ้างอิงที่มา:

  • https://www.investopedia.com/articles/investing/091115/6-ways-avoid-investment-ponzi-scheme.asp
  • https://www.investor.gov/protect-your-investments/fraud/types-fraud/ponzi-scheme
  • https://1359.go.th/document/รู้เท่าทันการเงินนอกระบบ.pdf
  • https://news.thaipbs.or.th/content/285671
  • https://www.thairath.co.th/content/350950
  • https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2019/Pages/n5162.aspx
  • https://www.facebook.com/prdofficial/posts/1868847283127613/

บทความที่เกี่ยวข้อง