แพร่ข่าวลวงให้ลามทุ่ง ด้วย Fake news bots

16 ตุลาคม 2019

จิตต์สุภา ฉิน (ซู่ชิง)
จิตต์สุภา ฉิน (ซู่ชิง)ซู่ชิง จิตต์สุภา ฉิน บรรณาธิการ ผู้ดำเนินรายการ และคอลัมนิสต์ไอทีผู้คลุกคลีกับเทคโนโลยีมาตั้งแต่เกิดจนโต ซู่ชิงมองว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องของเราทุกคน และคนที่ได้เปรียบคือคนที่เข้าใจมันก่อนใคร

ข่าวปลอมจากการสร้างของคนก็ว่าแย่แล้ว แต่เมื่อผู้ไม่ประสงค์ดีใช้บอตเข้ามาช่วย การกระจายข่าวปลอมออกไปเป็นวงกว้างก็ทำได้ง่ายและรวดเร็วจนชวนขนลุก

แม้ไม่ต้องถามก็พอจะเดาได้ว่าคุณผู้อ่านเป็นหนึ่งในคนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองและข่าวสารโลกผ่านทางโซเชียลมีเดีย จากเดิมที่เราต้องกรอก URL เว็บไซต์โปรดเพื่อเข้าไปนั่งไล่หาข่าวอ่านทุกวัน ก็กลายมาเป็นการติดตามผ่านทางโซเชียลมีเดียอย่างหน้าฟีดและไทม์ไลน์ของ Facebook และ Twitter รอให้คนหรือเพจที่เราติดตามแชร์ลิงก์อะไรที่พาดหัวจับความสนใจแล้วจึงค่อยคลิกเข้าไปอ่าน คล้าย ๆ กับการที่เรามีกองบรรณาธิการส่วนตัวมาคอยคัดข่าวที่เราจะเสพในแต่ละวันให้ในระหว่างที่เรานั่งจิบกาแฟสลับกับส่งข้างเหนียวหมูปิ้งเข้าปากเป็นอาหารเช้าไปด้วย ซึ่งนี่แหละค่ะคือประโยชน์ของโซเชียลมีเดีย ทำให้เราอัปเดตข่าวสารได้ว่องไว รวดเร็ว ทุกวัน

แต่เรื่องก็มาพลิกตรงที่ว่า จู่ ๆ ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาปิ๊งไอเดียว่าโซเชียลมีเดียก็ถูกใช้ได้สองทางนี่นา ในเมื่อทุกวันนี้คนติดตามข่าวและเชื่อสิ่งที่เห็นบนโซเชียลมีเดียกันขนาดนี้ ทำไมเราจึงจะไม่เปลี่ยนแปลงให้เครื่องมือที่พวกเขาใช้ในการอัปเดตตัวเองให้ฉลาด ให้กลายเป็นเครื่องมือเปลี่ยนพฤติกรรมและความเชื่อได้บ้างล่ะ

ไม่ใช่ว่าข่าวปลอมจะไม่เคยมีแทรกซึมอยู่บนโซเชียลมีเดียเลย แต่การกระจายข่าวปลอมเป็นกลยุทธ์ที่ใช้กันอย่างหนักหน่วงเป็นพิเศษในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 มาก่อนแล้ว ซึ่งจริง ๆ แล้วในช่วงเวลาที่เกิดขึ้นนั้นก็ไม่มีใครรู้ตัวหรอกค่ะ มายกมือทาบอกตกใจกันก็ตอนที่โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ดูไม่มีวี่แววที่จะชิงชัยนี้ได้กลับขี่ควบเป็นม้ามืดเข้าเส้นชัยไปท่ามกลางความงงงวยของคนทั่วโลก มารู้ตัวอีกทีว่านี่อาจจะเป็นผลที่เกิดจากการกระจายข่าวปลอมก็ช้าไปเสียแล้ว หลังจากนั้นคำว่า Fake news หรือ ข่าวปลอม ข่าวลวง ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันอย่างหนาหูและดูเหมือนคนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายก็อยู่ในระหว่างเสริมกำลังทัพอย่างแข็งแกร่งที่สุด เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้สิ่งเดิมเกิดขึ้นอีกครั้ง กับการเลือกตั้งในครั้งหน้าที่กำลังจะมาถึงอีกไม่นานแล้ว

Twitter: มุมแสนสบายสำหรับบอต

คราวนี้มาดูว่าข่าวลวงบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ทำงานอย่างไร ปกติเรามักจะได้ยินเรื่องข่าวลวงบน Facebook แต่อีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่มีลักษณะธรรมชาติอันเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้ในการกระจายข่าวลวงออกไปก็คือ Twitter นี่แหละ Twitter มีความนิรนาม รวดเร็ว โผงผาง ไร้ความจำเป็นที่จะต้องเซ็นเซอร์ การโพสต์อะไรสักหนึ่งครั้งบน Facebook เราอาจจะต้องใช้เวลาคิดนานกว่าครึ่งชั่วโมงเพื่อโพสต์อะไรสักอย่าง ก็มีแต่การทวีตนั้นเองที่ไม่ต้องอาศัยความสลับซับซ้อน ทางโครงสร้างในระดับที่เท่ากันเพราะด้วยความที่ทวีตบ่อยปล่อยออกไปเร็วและถูกกลืนหายไปเร็ว ๆ พอกับการโยนขนมปังลงไปในบ่อปลาที่หิวกระหาย การทวีตจึงอาจจะเป็นแค่การเปลี่ยนให้หนึ่งประโยคที่คิดอยู่ในหัวขณะนั้นกลายเป็นตัวอักษรให้สื่อสารกับคนอื่นได้

ทวีตที่ป๊อบปูลาร์คือทวีตที่น่าเชื่อถือ

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Nature Communications บอกว่าถ้าหากสามารถทำให้ทวีตใดทวีตหนึ่งดูเหมือนกำลังได้รับความนิยม หรือมีคนรีทวีตเยอะ ๆ ภายในเวลาอันรวดเร็ว ก็จะเพิ่มแนวโน้มให้คนอื่น ๆ รู้สึกเชื่อถือในทวีตนั้น ๆ และอยากแชร์ต่อไปได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับการที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ Twitter ลองทดสอบซ่อนยอดทวีตก็พบว่าทำให้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับทวีตน้อยลงเยอะมาก หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเรามีแนวโน้มที่จะเชื่อและรีทวีตในสิ่งที่เราเห็นจากตัวเลขว่ามีคนรีทวีตก่อนเรามาเยอะแล้ว เพราะตัวเลขนั้นก็เหมือนตัวรับประกันว่าเรามาถูกทางแล้วเราคิดตรงกับคนอื่น ๆ นั่นเอง

Bots เข้ามาตอบโจทย์

เมื่อเข้าใจจิตวิทยาของคนบน Twitter แล้วก็จะรู้ว่าเครื่องมือที่จะช่วยโหมไฟแห่งข่าวลวงให้แพร่สะพัดไปได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นก็น่าจะเป็นบอตนั่นเอง ในเมื่อไม่มีกำลังคนเพียงพอที่จะใช้สร้างข่าวลวงและการแชร์ให้กระจายออกไป บอตหรือซอฟท์แวร์ที่ปลอมตัวมาเนียน ๆ ให้เหมือนคนให้มากที่สุด จึงเข้ามาทำหน้าที่นี้แทนได้อย่างสมบูรณ์แบบ

โซเชียล บอต เป็นโปรไฟล์ปลอมที่สร้างขึ้นมาให้ดูผิวเผินแล้วเหมือนคนจริง ๆ ทุกอย่าง มีภาพโปรไฟล์ มีโพสต์ มีเพื่อน มีผู้ติดตาม หน้าที่ของบอตก็คือการสร้างทวีตที่ตรงตามจุดประสงค์ของผู้สร้างและใช้ทุกวิถีทางในการเผยแพร่ออกไป บอตจะเริ่มจากการทวีตข้อความที่อาจจะแฝงลิงค์ไปยังบทความที่มีความลวงหลอกพอ ๆ กันเอาไว้ด้วย จากนั้นก็ให้บอตตัวอื่น ๆ รีทวีตหรือแชร์ข้อความนั้นต่อ ๆ ไป นักวิจัยพบว่าภายในไม่กี่วินาทีหลังจากบอตทวีตข่าวปลอมและแพร่สะพัดเป็นไวรัลไปทั่ว Twitter มีมากถึงครึ่งหนึ่งของแอคเคานท์ที่รีทวีตในช่วงแรกเป็นบอต แต่หลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 10 วินาที ก็จะเริ่มมีมนุษย์จริงๆ เข้ามาร่วมวงด้วย ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการว่ามนุษย์มีแนวโน้มจะเชื่อในทวีตที่ได้รับความสนใจเยอะนั่นเอง

กระบวนการหลังจากนั้น บอตจะเลือกเข้าหาเป้าหมายต่อไปซึ่งก็คือคนที่มีผู้ติดตามเยอะบน Twitter บอตจะทำหน้าที่ทวีตและเมนชั่นคนเหล่านั้นหรือเข้าไปตอบทวีตของคนเหล่านั้นพร้อมกับแนบลิงก์ของตัวเองไปด้วย ขอแค่มีใครสักคนที่มีชื่อเสียงสักหน่อยบน Twitter เผลอหยิบไปรีทวีตต่อ แค่นั้นก็ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของทวีตนั้น ๆ ขึ้นไปได้อีกระดับแล้ว และยังทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้ติดตามของคนนั้น ๆ ทั้งหมดได้ด้วย นี่แหละความ ไวรัลที่แท้จริง

การต่อสู้ของบริษัทเทคโนโลยีกับบอตข่าวปลอม

Facebook และ Twitter รู้ปัญหาเรื่องบ็อตที่กระจายตัวอยู่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตัวเองดีอยู่แล้ว และที่ผ่านมาก็ได้มีความพยายามในการกำจัดบอตอยู่บ่อย ๆ ลองนึกถึงเวลาที่จู่ ๆ เราเปิด Instagram หรือ Twitter เข้าไป แล้วใจหล่นลงไปอยู่ที่ตาตุ่มเพราะได้เห็นว่าจำนวนผู้ติดตามเราลดฮวบลงไปแค่ช่วงข้ามคืน นั่นแหละค่ะคือความพยายามในการกำจัดบอต ซึ่งต้องมีความละเอียดอ่อนและความระมัดระวังพอสมควรเนื่องจากในบางกรณีบอตก็เหมือนคน คนก็เหมือนบอต ถ้าแยกผิดแยกถูก ไประงับแอคเคานท์ของคนจริงเข้าบ่อย ๆ ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาขึ้นมาได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรการต่อสู้ชิงไหวชิงพริบของทั้งสองฝ่ายผู้สร้างบอตและเจ้าของแพลตฟอร์มก็จะยังต้องดำเนินต่อไปด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยแยกแยะ ไหนคน ไหนบอต

ถึงแม้ว่าบอตจะถูกออกแบบมาให้เลียนแบบมนุษย์ให้ได้แนบเนียนที่สุดแค่ไหน แต่ความเป็นจริงก็คือมันไม่สามารถเป็นคนได้อย่างสมจริงขนาดนั้น พอจะมีบางวิธีที่เราสามารถใช้ในการตรวจสอบว่าโปรไฟล์ที่เราเห็นตรงหน้าเป็นคนหรือเป็นบอต ซึ่งเว็บไซต์ Kaspersky รวบรวมเช็คลิสต์คร่าว ๆ มาให้ทำดังต่อไปนี้

  • ชื่อแอคเคานท์คล้าย ๆ กัน
  • แอคเคานท์ถูกสร้างในวันเดียวกันเป๊ะ ๆ
  • โพสต์ลิงก์ไปที่เว็บไซต์เดียวกัน
  • ใช้สำนวนเหมือนกัน
  • เขียนผิดไวยากรณ์เหมือนกัน
  • ติดตามกันเองหรือติดตามแอคเคานท์อื่น ๆ ที่มีความคล้ายคลึงกัน
  • ใช้เครื่องมือชนิดเดียวกัน อย่างเช่น ตัวย่อ URL เดียวกัน
  • แอคทีฟในช่วงเวลาเฉพาะเจาะจงช่วงใดช่วงหนึ่ง
  • มีโปรไฟล์คล้าย ๆ กัน
  • ใช้ภาพโปรไฟล์เป็นภาพทั่ว ๆ ไป เช่นภาพคนที่หาเอาได้จาก Google

ถ้าสิ่งที่เราสงสัยว่าจะเป็นบอตมีลักษณะหลาย ๆ ข้อที่ตรงกับเช็คลิสต์นี้ก็อาจจะพอสรุปได้ว่าเรากำลังรับมือกับบอตอยู่จริงค่ะ

แล้วเราจะป้องกันตัวเองอย่างไร?

มีเครื่องมือหลายชิ้นที่เราสามารถใช้เพื่อตรวจสอบว่าข่าวที่เรากำลังอ่านเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม หนึ่งในนั้นก็คือเว็บไซต์ FactCheck.org ที่รวบรวมข่าวเท็จทั้งหมดที่พบเห็นบนอินเทอร์เน็ต พร้อมกับให้ข้อมูลที่ถูกต้องกำกับเอาไว้ด้วย ถ้าหากผู้ใช้งานหาเรื่องที่ต้องการไม่เจอก็สามารถส่งคำถามไปถามกองบรรณาธิการได้ หรืออีกเว็บไซต์หนึ่งก็คือ Snopes ที่มีวิธีการทำงานในแบบเดียวกัน ดังนั้นถ้ามีข่าวไหนที่เราไม่มั่นใจก็สามารถเข้าไปค้นหาจากคีย์เวิร์ดบนเว็บไซต์ได้

หรือใกล้ตัวขึ้นมาในบ้านเราก็มีสื่อที่เสนอตัวช่วยตรวจสอบเรื่องราวต่าง ๆ ที่พบเห็นบนอินเทอร์เน็ตแทนให้ อย่างเช่นรายการ “ชัวร์ก่อนแชร์” ที่นำโดยคุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ หรือ @yoware โดยหยิบสิ่งที่คนแชร์กันบนโลกออนไลน์และมาตามหาความจริงว่าเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้หรือไม่ ถ้าหากคอยติดตามรายการนี้อยู่เรื่อย ๆ ก็จะทำให้เราได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและสร้างภูมิคุ้มกันให้เราไม่เชื่ออะไรที่เห็นบนอินเทอร์เน็ตง่าย ๆ อีกต่อไป

ท้ายที่สุดแล้ว การที่เราจะไปถึงจุดที่เกิดข้อสงสัยว่าอะไรจริงหรือไม่จริงนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือการพัฒนาทักษะในการตรวจจับข่าวปลอมของตัวเราเองให้แหลมคมมากที่สุด เรียนรู้ที่จะเอะใจในพฤติกรรมที่ชวนสงสัยบนโซเชียลมีเดีย ไม่รีทวิตอะไรง่าย ๆ เพียงเพราะว่าเป็นทวิตที่ดูไวรัล ได้รับความนิยมมากในขณะนั้น ๆ (เพราะเราคงไม่อยากเป็นมนุษย์ที่ถูกบอตหลอกใช้ให้แชร์ข่าวลวงต่อจริงไหมคะ) และในระหว่างที่เราพัฒนาทักษะในการต่อกรกับบอตข่าวลวง ก็เฝ้ารออย่างมีความหวังไปก่อนว่าบริษัทเทคโนโลยีจะคิดค้นและพัฒนาเครื่องมือทรงประสิทธิภาพมาจัดการบดขยี้ให้บอตหายไปกลายเป็นฝุ่นผงให้ได้ในเร็ววัน แต่พูดตรง ๆ ว่าวันนั้นก็ไม่น่าจะมาถึงง่าย ๆ เพราะฝั่งนักสร้างบอตก็จะต้องดิ้นให้หลุดด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นสูงมาต่อสู้ด้วยเหมือนกัน

บทความที่เกี่ยวข้อง