เพิ่มความส่วนตัวบนโลกออนไลน์ ด้วยการปรับตั้งค่าบัญชี Google
11 มิถุนายน 2019
ทุกวันนี้เราสามารถเข้าถึงความรู้ต่างๆ ในโลกใบนี้ได้ด้วยแค่ปลายนิ้วสัมผัส ถึงแม้เทคโนโลยีฯ จะทำให้ชีวิตพวกเราง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ประโยชน์ที่เราได้มาย่อมต้องแลกกับความเป็นส่วนตัวที่น้อยลง ในโลกปัจจุบัน การปกป้องความเป็นส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญมาก หากไร้ซึ่งความเป็นส่วนตัว เราย่อมสุ่มเสี่ยงกับการถูกฉ้อโกงและการโจมตีจากภัยไซเบอร์ต่างๆ ได้ จับตาให้ดีความเป็นส่วนตัว (Internet Privacy) และความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ต (Internet Security) ถือเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคในยุคนี้กำลังต้องการและผู้ให้บริการที่ตอบโจทย์เหล่านี้เท่านั้นที่จะอยู่ต่อไปได้
เป็นที่ทราบดีว่า Google ติดตามเก็บข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมที่คุณทำบนอุปกรณ์ บนแอปฯและบริการต่างๆ หลายท่านอาจยังไม่ทราบด้วยว่า การติดตามของ Google นั้นรวมไปถึงทุกสถานที่ที่เราเคยไป ประวัติการซื้อสินค้าและข้อมูลส่วนตัวของเราอีกมากมาย จะเห็นได้ว่านี่คือ ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย หากประวัติส่วนตัวของเราตกอยูในมือผู้ประสงค์ร้าย ถึงแม้ Google จะพยามยามโน้มน้าวผู้ใช้ในนโยบายการเก็บข้อมูลส่วนตัว ว่าเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการให้บริการต่าง ๆ อาทิ เช่น ช่วยให้เราค้นหาร้านอาหารที่มีลักษณะตรงกับจริตของเราก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันอยู่ผู้ใช้อย่างเราว่าจะวางใจให้ Google ใช้ข้อมูลของเราเพียงใดหรือเลือกที่จะไม่อนุญาตให้ Google เก็บข้อมูลเราเลยก็ย่อมได้
Google เก็บข้อมูลใดเกี่ยวกับเราไว้บ้าง?
เราสามารถขอดูข้อมูลทั้งหมดที่ Google รวบรวมเกี่ยวกับตัวเรา ได้ 2 วิธี ดังนี้
1. Google Takeout
ผู้ใช้สามารถดึงข้อมูลจาก Google และโอนไปใช้บริการที่อื่นได้ โดยเก็บข้อมูลรูปภาพ, ชื่อที่อยู่ใน Contacts, การตั้งค่าอุปกรณ์ Android, รายการ Bookmarks ใน Chrome, ข้อมูลกิจกรรม Google Fit และแม้แต่ประวัติการสั่งพิมพ์เอกสารผ่าน Cloud โดยทั่วไป Google อาจใช้เวลาถึง 2 – 3 วันในการรวบรวมรายการประวัติของเราและจะส่งลิงก์ดาวน์โหลดมาให้
2. Google Dashboard
แดชบอร์ดได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงประโยชน์ในการจัดการข้อมูล โดยเสนอภาพรวมของข้อมูลที่ Google รวบรวมเกี่ยวกับเราเมื่อเราใช้บริการ ซึ่งรวมถึงจำนวนการรับ-ส่งอีเมลใน Gmail, จำนวนไฟล์ใน Google Drives และจำนวนรูปภาพที่ Google จัดเก็บไว้ แต่ข้อมูลสำคัญคือสิ่งที่ Google เรียกว่า “ข้อมูลกิจกรรม (Activity Data)” เช่น Location หรือการ Search หรือประวัติการ Search ซึ่ง Google Maps จะบันทึกตามติดทุกที่ที่เราเคยไป สามารถระบุสถานที่ วันและเวลาที่บันทึกรูปถ่ายไว้อย่างละเอียด
อีกแหล่งข้อมูลส่วนตัว คือ ข้อมูลโปรไฟล์ของเรา รวมถึงวันเดือนปีเกิด ข้อมูลประเภทนี้ Google ไม่อนุญาตให้ลบได้ แต่เพื่อความปลอดภัย อาจเลือกป้อนข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริงไปก็ได้ เพียงแต่ต้องจำให้ได้ว่าใส่ข้อมูลอะไรไปบ้าง เนื่องจากต้องระบุข้อมูลให้ตรงกันเมื่อต้องการรีเซ็ตรหัสผ่าน
Google ใช้ข้อมูลส่วนที่เก็บรวบรวมไว้เพื่อสร้างโปรไฟล์ของกลุ่มเป้าหมายเพื่อการโฆษณา และสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ รายรับจากโฆษณาของ Google สูงถึง 32.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 9 แสน 8 หมื่นล้านบาท) เฉพาะในไตรมาสที่แล้วเพียงไตรมาสเดียว รายได้เหล่านี้ไม่ใช่จากการขายข้อมูลของเราให้แบรนด์โดยตรง แต่ให้แบรนด์ใช้ฐานข้อมูลเหล่านี้เพื่อการทำโฆษณาให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด นี่คือเหตุผลว่าทำไมแบนเนอร์โฆษณารองเท้ากีฬารุ่นโปรดที่เราเคยหาข้อมูลเมื่อวันก่อน คอยโผล่ให้เราเห็นตามเว็บไซต์อยู่บ่อยๆ โฆษณาของ Google ยังได้รับอิทธิพลสะท้อนจากพฤติกรรมของเรา เช่น ถ้าเราค้นหา “สนามฟุตบอลที่ใกล้ที่สุด” บน Google Maps หรือดูไฮไลท์แมทช์ฟุตยอลดังๆ บน YouTube บ่อยๆ ระบบจะอนุมานว่า เราเป็นแฟนฟุตบอล!
สู่ความเป็นส่วนตัว ด้วยการปรับตั้งค่าบัญชี Google
การตั้งค่า Default ของ Google เน้นการรวบรวมข้อมูลผู้ใช้มากกว่าความเป็นส่วนตัว แต่ Google ก็เปิดให้ผู้ใช้มีทางเลือกในกรณีที่ต้องการปรับตั้งค่าต่างๆ ได้ เช่น
-
การลบประวัติการใช้งานแบบอัตโนมัติ
หลังจากเก็บสะสมข้อมูลผู้ใช้ไว้นานหลายปี ราวต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Google ประกาศว่าเริ่มทดสอบฟังก์ชันการลบประวัติการใช้งานแบบอัตโนมัติ โดยผู้ใช้สามารถกำหนดช่วงเวลาที่อนุญาตให้ Google เก็บข้อมูลไว้ได้ ระยะเวลาตั้งแต่ 3-18 เดือน ดังนั้นข้อมูลที่เก่ากว่า 18 เดือนจะถูกลบโดยอัตโนมัติ
-
การติดตามการใช้งานบนเว็บไซต์และบนแอปฯ
ผู้ใช้สามารถเลือก “ปิด” การติดตามการใช้งานบนเว็บไซต์และบนแอปฯ ซึ่งจะยุติการรวบรวมประวัติการ Search และการใช้งานบนแอปฯ ต่างๆ ของผู้ใช้ หากปิดตัวเลือกนี้ ผู้ใช้จะไม่เห็นผลการ Search ล่าสุดหรือแบบที่ Google แสดงผลตามความสนใจของเรา
-
การใช้งานแบบ Voice
หากเราเคยใช้มือถือโดยสั่งงานด้วยเสียง โดยคลิกที่ไอคอนไมโครโฟนใน Chrome หรือพูดว่า “โอเค Google” เสียงของเราจะถูกบันทึกเก็บไว้ Google อ้างว่าจะใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อปรับปรุงระบบการเรียนรู้และจดจำเสียง (Speech Recognition) Google เก็บไว้หมดทุกคลิปเสียง มีรายละเอียดว่าพูดเมื่อใด ผ่าน Chrome หรือ Android Google App โดยผู้ใช้สามารถเลือกลบทิ้งทั้งหมดได้
-
การติดตาม Location ของผู้ใช้
ข้อมูลประวัติ Location ของผู้ใช้จะถูกบันทึกไว้ตลอดมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว แม้ในขณะที่ไม่ได้ใช้ Google Maps ผู้ใช้สามารถเลือกดูประวัติดังกล่าวได้ หากปิดการติดตาม Location ผู้ใช้ยังสามารถใช้ Google Maps ได้ แต่ต้องแลกกับการที่ไม่ได้รับคำแนะนำสถานที่ใหม่ๆ ตามข้อมูลสถานที่ที่เราเคยไปหรือได้รับโฆษณาที่ไม่ตรงกับความสนใจของเราได้ แต่ปิดเฉพาะฟังก์ชัน Location อาจยังไม่พอเนื่องจาก Google และแอปฯ บางตัวยังสามารถรู้ Location ของเราได้อยู่ หากต้องการปิดการติดตามนี้อย่างสมบูรณ์แบบ ต้องเลือก “ปิด” การติดตามการใช้งานบนเว็บไซต์และบนแอปฯ ด้วย
-
การตั้งค่าอื่น ๆ
นอกเหนือจากนี้เรายังสามารถปิดการติดตามประวัติการดู YouTube และประวัติการ Search และไปที่ Google Photos เพื่อเลือกปิดการใช้งาน Facial Recognition (การระบุตัวตนจากการจดนำใบหน้า) และลบข้อมูล Location ออกจากประวัติของรูปภาพที่เปิดแชร์ไว้
-
ไม่อนุญาตให้ Google ใช้ข้อมูลส่วนตัวทำโปรไฟล์กลุ่มเป้าหมายโฆษณา
เลือกปิดการใช้กิจกรรมบนเว็บไซต์และข้อมูลอื่น ๆ จากบริการของ Google เพื่อเสนอโฆษณาในสิ่งที่เราสนใจ โดยการตั้งค่าลักษณะนี้ไม่ใช่การ Block โฆษณา ผู้ใช้จะยังคงเห็นโฆษณาต่างๆ อยู่ แต่จะเป็นในรูปแบบที่อาจไม่ตรงตรามความสนใจของผู้ใช้ และผู้ใช้สามารถเลือกลบหรือปิด “หัวข้อที่สนใจ” ได้อีกด้วย
วิธีที่ดีที่สุด คือ การลบบัญชี Google ออกไปเลย แต่นั่นอาจจะเป็นวิธีที่หักดิบเกินไป ปัจจุบันผู้ใช้มีทางเลือกโดยเปลี่ยนไปใช้บริการที่ไม่ใช่ของ Google แต่มีประสิทธิภาพตอบโจทย์ได้เช่นกัน เช่น ใช้ Firefox แทน Chrome หรือใช้ DuckDuckGo แทน Google Search
นอกจากนี้ ถึงจะเลือกลบบัญชี Google ออกทั้งหมด Google ก็ยังคงสามารถติดตามและคาดเดาตัวตนของเราทางอ้อมผ่านเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ที่เก็บรายงานข้อมูลผู้ใช้ในรูป “ข้อมูลแฝง” ซึ่ง Google อ้างว่าไม่ได้ผูกชื่อของผู้ใช้หรือรายละเอียดอื่น ๆ ที่สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้ได้ ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกแอปฯ ที่บล็อกโฆษณา เช่น AdBlock Plus หรือลง Extensions เพิ่มความเป็นส่วนตัวด้วยแอปฯ ชื่อ Disconnect หรือ Ghostery ที่บล็อกเครื่องมือติดตาม เช่น คุกกี้ และเครื่องมือติดตามบนโซเชียล
การเลือกเปลี่ยนฮาร์ดแวร์จากมือถือที่ใช้ระบบปฎิบัติการ Android มาเป็น iPhone (iOS) ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลย เนื่องจากนโยบายปกป้องความเป็นส่วนตัวล่าสุดของค่าย Apple ดูจะเน้นไปในทิศทางที่เป็นคุณประโยชน์แก่ผู้ใช้อย่างมาก โดย Apple ได้เตรียมออกบริการชื่อ “Sign-in with Apple” ซึ่งเปิดตัวสดๆ ร้อนๆ ระหว่างงานเปิดตัวซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีใหม่ของ Apple (WWDC 2019) เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในการนี้ Apple คาดว่า Sign-in with Apple จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการ Sign-in เข้าใช้งานแอปฯ หรือเว็บไซต์ผ่านบัญชี Google, Facebook หรือ Twitter เลยทีเดียว เนื่องจากทาง Apple จะปกปิดข้อมูลผู้ใช้รวมถึงจะไม่แสดงอีเมลจริงให้ทางแอปฯ หรือเว็บไซต์เหล่านั้นทราบ และภายในปีนี้จะเริ่มใช้งานอย่างแพร่หลาย
อ้างอิงที่มา
บทความที่เกี่ยวข้อง