ทีมวิจัยจากญี่ปุ่นถอดรหัส Pairing-based ขนาด 923 บิตได้ใน 148 วัน
19 มิถุนายน 2012
ทีมวิจัยร่วมจากสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, มหาวิทยาลัยคิวชู, และบริษัทฟูจิตสึ ได้ร่วมกันวิจัยกระบวนการแกะรหัสการเข้ารหัสแบบ Pairing-based ขนาดความยาวกุญแจ 923 บิต โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 148.2 วัน บนเซิร์ฟเวอร์ 21 ตัว มีซีพียู 252 คอร์
การเข้ารหัสแบบ Pairing-based เป็นกระบวนการพื้นฐานของการเข้ารหัสในยุคหน้าหลายต่อหลายอย่าง เช่น
- Identity-based encryption ที่ใช้ที่อยู่ที่เปิดเผย เช่น ชื่อจริง, อีเมล, หรือ URL ในการเข้ารหัส
- Multiple trusted authorities ที่ใช้หน่วยงานกลางหลายหน่วยงานพร้อมๆ กันในการสร้างกุญแจลับเข้ารหัส
กระบวนการที่อาศัยการทำ pairing นี้คาดว่าจะเป็นกระบวนการในการเข้ารหัสในยุคต่อไป ถัดจากยุคนี้ที่อาศัย Public-Key Infrastructure (PKI) เป็นหลัก การที่ทีมวิจัยสามารถทดสอบความแข็งแกร่งของอัลกอริธึ่มพื้นฐานได้ก่อน จะทำให้การวางมาตรฐานอุตสาหกรรม เช่น ขนาดกุญแจ อยู่บนฐานของข้อมูลที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
กระบวนการ Pairing-based ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ ไลบรารีโอเพนซอร์สนั้นเพิ่งมีการพัฒนากันขึ้นมาในปี 2007
ที่มา – NICT
ข่าวจาก Blognone โดย lew
บทความที่เกี่ยวข้อง