Go minimal ใช้น้อย เสี่ยงน้อย ลดภัยไซเบอร์แบบมินิมอล

20 ธันวาคม 2022

จิตต์สุภา ฉิน (ซู่ชิง)
จิตต์สุภา ฉิน (ซู่ชิง)ซู่ชิง จิตต์สุภา ฉิน บรรณาธิการ ผู้ดำเนินรายการ และคอลัมนิสต์ไอทีผู้คลุกคลีกับเทคโนโลยีมาตั้งแต่เกิดจนโต ซู่ชิงมองว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องของเราทุกคน และคนที่ได้เปรียบคือคนที่เข้าใจมันก่อนใคร

โดยปกติแล้วคนทั่วไปจะมีแอปพลิเคชันประมาณ​ 40 แอป ฯ ติดตั้งไว้ในสมาร์ทโฟนของตัวเอง แต่ 89% มักจะใช้งานเฉลี่ย 18 แอปพลิเคชันเท่านั้น ซึ่งก็หมายความว่ามีแอปพลิเคชันมากกว่าครึ่งของแอป ฯ ทั้งหมด จะถูกปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ โดยไม่มีการใช้งานเลย 

สถิติยังระบุอีกว่ากลุ่มคนที่ดาวน์โหลดแอป ฯ เยอะที่สุดก็คือกลุ่มผู้ใช้งานมิลเลเนียลซึ่งมีแอปพลิเคชันมากกว่า 67 แอป ฯ ติดตั้งเอาไว้ แต่ใช้จริงบ่อย ๆ เพียงแค่ 25 แอป ฯ เท่านั้นเอง

ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าอะไร?

การกดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาติดตั้งบนโทรศัพท์ถือเป็นกิจกรรมที่มีต้นทุนต่ำมาก กดเพียงครั้งเดียว ปล่อยให้โทรศัพท์สแกนหน้ายืนยันตัวตนแค่ไม่กี่วินาที แอปพลิเคชันก็จะมาปรากฏอยู่บนจอเครื่อง ดังนั้นการจะดาวน์โหลดแอปใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งที่แทบไม่ต้องใช้การตัดสินใจอะไรมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ใช้งานที่มีพื้นที่เก็บข้อมูลในโทรศัพท์เหลือล้นจนใช้ไม่หมด 

เมื่อพูดถึงการป้องกันภัยออนไลน์เรามักจะคิดกันถึงสิ่งที่ต้องเพิ่มเข้าไป เช่นต้องเพิ่มรหัสผ่านให้ซับซ้อนที่สุดและต้องไม่เหมือนกันในแต่ละแพลตฟอร์ม ต้องเพิ่มแอป ฯ ประเภทยืนยันตัวตนแบบ multi-factor ต้องเพิ่มซอฟท์แวร์แอนตี้ไวรัส ต้องเพิ่มแอป ฯ ที่ช่วยเก็บรักษารหัสผ่านของเราเอาไว้ในแอปเดียว ฯลฯ 

แม้สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นตัวช่วยในการเพิ่มความปลอดภัยบนออนไลน์ให้เราได้ แต่หากลองคิดในมุมกลับกันบ้าง แทนที่จะ ‘ใส่เพิ่ม’ มีอะไรบ้างไหมที่เราสามารถ ‘ดึงออก’ เพื่อลดความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ได้

‘ดึงออก’ ลดพื้นที่เสี่ยง

ย้อนกลับมาที่แอปพลิเคชันที่เรากดดาวน์โหลดกันแบบไม่ต้องคิด นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เราสามารถเริ่มทำได้ทันทีด้วยการปรับใช้แนวคิดแบบมินิมอล Less is more ยิ่งน้อยยิ่งมาก และไม่จำเป็นต้องใช้กับแค่สมาร์ทโฟนเท่านั้นเพราะหลักคิดแบบนี้จะเป็นอุปกรณ์ประเภทไหนก็นำไปใช้ได้ทั้งหมด 
โดยทั่วไปอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เราซื้อมามักจะติดตั้งมาพร้อมกับแอปพลิเคชันบางอย่างเพื่อให้เราสามารถเริ่มต้นใช้งานฟังก์ชันพื้นฐานได้ครบถ้วน แอป ฯ เหล่านี้ผ่านการคิดค้นและทดสอบมาจากบริษัทผู้ผลิตแล้วว่ายากที่แฮกเกอร์จะเจาะเข้าไปได้ แต่ทันทีที่เราเริ่มติดตั้งแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมอื่น ๆ ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้แฮกเกอร์มีพื้นที่ในการโจมตีเราเพิ่มขึ้น

‘ดึงออก’ ลดโอกาสถูก Track

อีกหนึ่งอย่างที่แอปพลิเคชันมักจะทำก็คือการ Track ข้อมูลของผู้ใช้งานเพื่อนำไปขายต่อให้นักโฆษณาซึ่งผู้ใช้งานมักจะต้องกดตกลงให้ Track ข้อมูลเพื่อแลกกับการเข้าใช้งานแอปนั้น ๆ เมื่อเราถูก Track  สิ่งที่จะตามมาก็คือเหตุการณ์อย่างเช่น การถูกโฆษณาเสื้อผ้าหรือรองเท้าที่เรากดคลิกเข้าไปดูแค่ครั้งเดียวตามหลอกหลอนเราไปทุกที่ 

ปัญหาเรื่องการถูก Track โดยไม่เต็มใจแบบนี้ อาจจะรบกวนความสงบของผู้ใช้ iPhone น้อยกว่า เพราะ Apple เปิดตัวฟีเจอร์ App Tracking Transparency ที่ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะอนุญาตให้แอปไหน Track หรือไม่ Track ข้อมูลของผู้ใช้งานบ้างแม้แต่กระทั่งแอป ฯ ที่ Apple ทำเองก็ไม่เว้น เมื่อผู้ใช้กดไม่อนุญาตให้ Track แอป ฯ ก็จะไม่สามารถนำข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลโลเคชันไปขายให้บริษัทโฆษณาได้

แม้ว่าจะปลอดภัยกว่าคนใช้ Android อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการเข้าใช้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็หมายความว่าเรามีข้อมูลบางอย่างที่จะต้องยอมให้แพลตฟอร์มนั้น ๆ Track โดยปริยาย ดังนั้นการลดการใช้งานให้น้อยลงเหลือเท่าที่จำเป็นจริง ๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้ไม่ว่าดีไวซ์ที่เราใช้มาจากค่ายไหนก็ตาม 

‘ดึงออก’ ลดผลกระทบจากความหละหลวมของคนอื่น

สื่อต่าง ๆ มักจะบอกให้เราคอยระมัดระวังความปลอดภัยการใช้งานอินเทอร์เน็ต ไม่คลิกลิงค์ที่ดูน่าสงสัย ตั้งคำถามกับทุกสิ่งทุกอย่างที่มีพิรุธหรือดูดีจนไม่น่าเชื่อ อย่างเช่น อีเมลหรือข้อความแจกของฟรีราคาแพง ๆ และสอนให้เราตั้งรหัสผ่านอย่างรัดกุมที่สุดเสมอ แต่ถ้าหากผู้ให้บริการที่เป็นเจ้าของแอป ฯ หละหลวม รักษาความปลอดภัยไม่ดีพอ ต่อให้เราระวังแค่ไหนก็คงไม่อาจรอดพ้นการตกเป็นเหยื่อแฮกเกอร์ได้

ที่ผ่านมาเราได้เห็นตัวอย่างของการที่แพลตฟอร์มขนาดใหญ่ถูกเจาะและขโมยข้อมูลมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งข้อมูลส่วนตัวอย่างเช่นแอคเคานท์ รหัสผ่าน ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ไปจนถึงข้อมูลที่หลุดและสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นได้ทันทีอย่างเช่น ข้อมูลบัตรเครดิต ภาพถ่ายวาบหวิวที่ตั้งใจถ่ายเก็บไว้ดูเองคนเดียว หรือ เอกสารลับสุดยอดที่ไม่อาจให้คนอื่นล่วงรู้ได้ 

เหตุการณ์ที่ว่ามานี้ต่อให้ผู้ใช้งานระแวดระวังแค่ไหน แต่เมื่อข้อมูลหลุดไปแล้วก็ไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้ สิ่งที่พอจะทำได้ก็คือการจำกัดขอบเขตความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด อย่างเช่น การระงับบัตรเครดิตหรือเปลี่ยนรหัสผ่านทันที แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ภายใต้หลักคิดแบบมินิมอลก็คือ ลดจำนวนแพลตฟอร์มที่ใช้บริการเพื่อลดความเสี่ยง เมื่อเราไม่มีตัวตนอยู่บนแพลตฟอร์มนั้น ๆ ตั้งแต่แรก แฮกเกอร์ก็ทำอะไรเราไม่ได้ 

‘ดึงออก’ ลดผลกระทบจากความหละหลวมของตัวเอง

ยิ่งเรากดติดตั้งแอปพลิเคชันเยอะจนเป็นนิสัย เราก็จะยิ่งระมัดระวังแต่ละแอปน้อยลงเท่านั้น บางแอปอาจจะมาพร้อมกับคำสัญญาว่าจะเป็นแอปแต่งภาพที่แต่งภาพออกมาได้สวยถูกใจแต่แลกกับการดูดข้อมูล่วนตัวของเราไปด้วยโดยที่เราอาจจะไม่ล่วงรู้เลยก็ได้ หรือร้ายไปกว่านั้นอาจมีการแอบติดตั้งมัลแวร์เข้าไปในเครื่องด้วย 

ปรับแนวคิดใหม่ให้ Go Minimal

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่มาเดินสายมินิมอลเพื่อลดความเสี่ยงของการตกเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์สามารถเริ่มได้ด้วยการทำความเข้าใจรูปแบบการใช้งานแอปบน Device ของตัวเราเองให้ดีก่อน เราอาจจะใช้วิธีแบบพื้นฐานที่สุดอย่างการไล่ดูแต่ละแอป ฯ ที่เรามีบนเครื่องตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายแล้วใช้ความจำกับความคุ้นเคยเอาว่าแอป ฯ ไหนเปิดใช้บ่อย แอป ฯ ไหนเปิดใช้น้อย หรือ แอป ฯ ไหนไม่เคยเปิดใช้เลยตั้งแต่ดาวน์โหลดมา แล้วค่อย ๆ ลบทิ้งให้เหลือเฉพาะแอป ฯ ที่จำเป็นเท่านั้น 

ใครเป็นสายข้อมูล ต้องการมีตัวเลขประกอบการตัดสินใจก็อาจจะใช้เครื่องมือที่ติดตั้งมากับสมาร์ทโฟนเลยก็ได้ คนใช้ iPhone สามารถกดเข้าไปที่ Settings > General > iPhone Storage ซึ่งเครื่องจะคำนวณให้ทันทีว่าแต่ละแอป ฯ ที่เรามีนั้นกินพื้นที่เท่าไหร่ และใช้ครั้งล่าสุดวันไหน ถ้าแอป ฯ ไหนเราไม่เคยเปิดใช้เลยก็จะมีข้อความขึ้นมาประจานเราแบบชัด ๆ ว่า ‘ไม่เคยใช้’ ส่วนผู้ใช้ Android ก็สามารถทำแบบเดียวกันนี้ได้ผ่านแอป ฯ Files ของ Google 

ถึงจะเป็นเครื่องมือที่ดูแสนจะธรรมดา แต่เมื่อลองใช้จริง ๆ คุณจะพบว่ามันทรงพลังอย่างน่าประหลาดใจ บางแอป ฯ เราเห็นอยู่บนหน้าโฮมสกรีนบ่อย ๆ แต่ก็ทำใจลบไม่ได้สักทีเพราะคิดว่าเพิ่งจะเปิดใช้เมื่อเร็ว ๆ นี้ จนกระทั่งมีข้อมูลแสดงให้เห็นชัด ๆ อยู่ตรงหน้าว่าเปิดใช้แอปนี้ครั้งล่าสุดตั้งแต่เมื่อ 8 ปีที่แล้ว เครื่องมือแบบนี้ช่วยให้ตัดสินใจลบแอป ฯ ที่ไม่จำเป็นไปได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ 

เมื่อกำจัดของเก่าที่ไม่ต้องการออกจากเครื่องแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการปลูกฝังแนวคิดใหม่ ว่าเราจะไม่กดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันง่าย ๆ อีกต่อไป ลองจินตนาการว่าหนึ่งการกดดาวน์โหลดของเรานั้นมีค่ามากและเราจะไม่ยอมยกมันให้ใครไปง่าย ๆ หรือบางคนที่ต้องการความเข้มงวดกว่านั้นก็อาจจะจำกัดโควต้าให้ตัวเองก็ได้ว่าในแต่ละเดือนจะยอมดาวน์โหลดกี่แอป ฯ และถ้าดาวน์โหลดเพิ่มแล้วจะต้องลบของเก่าชดเชยด้วยหรือไม่ คล้าย ๆ กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการช้อปปิ้งซื้อเสื้อผ้าตัวใหม่แต่ต้องแลกกับการกำจัดตัวเก่าออกให้เท่ากับที่ซื้อมา

สรุป

แนวคิดดาวน์โหลดแอป ฯ แบบมินิมอลไม่ใช่การปฏิเสธเทคโนโลยีและไม่ใช่การเสนอให้กลัวการใช้งานเทคโนโลยี แต่เป็นการสะกิดเตือนให้เราฉุกคิดถึงความจำเป็นแล้วหันมาทำความเข้าใจรูปแบบการใช้งานเทคโนโลยีของตัวเองให้ดีขึ้น 

บทความนี้ไม่ได้ต้องการให้คุณผู้อ่านแกะโทรศัพท์เครื่องใหม่ออกจากกล่องและไม่ติดตั้งแอปพลิเคชันใด ๆ เพิ่มเติมเลย เพียงแต่ต้องการเตือนให้ไม่ลืมว่ายิ่งเราใช้งานมาก ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการถูกโจมตีให้มากขึ้น เช่นเดียวกันกับการลดการใช้งานให้น้อยลงเหลือเท่าที่จำเป็นก็จะลดความเสี่ยงให้น้อยลงได้ นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เราสามารถใช้เพิ่มความปลอดภัยไซเบอร์นอกเหนือไปจากวิธีอื่น ๆ ที่เราอาจจะรู้ดีอยู่แล้ว

“หรืออย่างน้อย ๆ ต่อให้ทำตามแนวคิดมินิมอลไม่ไหว แต่มีแรงบันดาลใจให้กวาดล้างแอปพลิเคชันไม่จำเป็นออกจากเครื่องบ่อย ๆ ก็นับว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าดีใจแล้ว”

บทความที่เกี่ยวข้อง