Firewall คืออะไร ใช้ทำอะไร ป้องกันอะไรได้บ้าง

17 ตุลาคม 2022

NT cyfence
NT cyfenceทีมงาน NT cyfence ที่พร้อมให้คำปรึกษา และ ดูแลความปลอดภัยให้กับทุกองค์กร อย่างครบวงจร ด้วยทีมงานมืออาชีพ

หากเคยติดตามข่าวสารเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไอที คงจะเคยได้ยินคำว่า Firewall มาแล้วบ้าง เนื่องจากเป็นอุปกรณ์อันดับต้น ๆ ที่ใช้ในการป้องกันภัยคุกคามในการใช้งานอินเทอร์เน็ต  และเป็นอุปกรณ์ที่ทุกบริษัทจำเป็นต้องมี  ในบทความนี้จะแนะนำว่า  Firewall  คืออะไร มีกี่ประเภทอะไรบ้าง

Firewall  คืออะไร ใช้ทำอะไร

Firewall เป็นซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ชนิดหนึ่ง ที่มีหน้าที่ตรวจสอบแพ็คเกจที่ผ่านเข้า-ออกระบบเครือข่าย คัดกรองข้อมูลที่เข้ามาว่าเป็นข้อมูลอะไร มาจากที่ไหนและจะส่งไปที่ใด เพื่อเป็นการป้องกันว่าข้อมูลที่จะส่งผ่านเข้ามานั้นมีความปลอดภัยหรือไม่ ด้วยการตั้งกฎ (Rule) หรือนโยบาย (Policy) ของผู้ดูแลระบบ หากแพ็คเกจไม่ตรงตามกฏที่ตั้งไว้แม้เพียงข้อเดียว Firewall ก็จะไม่ให้ผ่าน Firewall เข้าไปได้

ทำไมต้องติดตั้ง Firewall 

เดิมการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ จะเป็นการใช้งานส่วนบุคคล ดังนั้น ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการใช้งานจึงมีไม่มากนัก ต่อมาเมื่อมีการใช้งานระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ทุกองค์กร ทุกธุรกิจมีการนำอินเตอร์เน็ตมาใช้ในการติดต่อสื่อสาร และ ดำเนินธุรกิจ ดังนั้น ผลพวงที่ตามมาคือ อาจมีผู้ไม่ประสงค์ดี หรือแฮกเกอร์ หาวิธีเข้ามาขโมยข้อมูล หรือ ทดสอบความสามารถของตนเอง ตลอดจนยังมีไวรัสคอมพิวเตอร์ ก็ได้อาศัยช่องทางของเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นช่องทางในการแพร่กระจายไวรัสด้วยเช่นกัน การติดตั้ง Firewall ก็จะช่วยคัดกรองภัยคุกคามดังกล่าว ไม่ให้เข้ามาในเครือข่ายได้นั่นเอง

Firewall มีกี่ชนิด แต่ละประเภทมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร

ในปัจจุบัน Firewall มีทั้งหมด 2 ชนิด แบ่งเป็น Hardware Firewall กับ Software Firewall ดังนี้

1.Hardware Firewall

เป็นอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบมาเป็น Hardware ในลักษณะเฉพาะ จึงทำให้มีความเสถียร ปลอดภัยและ มีความเร็วในการทำงานสูง และยังยากต่อการเจาะเข้าระบบ ยกเว้นแต่แฮกเกอร์จะพัฒนาวิธีการในการเจาะระบบที่เฉพาะอุปกรณ์ Hardware นั้น ๆ โดยที่ Hardware Firewall จะวางกั้นระหว่าง เครือข่ายภายใน ก่อนออกสู่ภายนอก โดยมีข้อดีหลักของ Hardware Firewall ดังนี้

  1. ปกป้องเครือข่ายแบบรวมศูนย์
  2. เนื่องจากไม่แชร์ Hardware กับใครจึงมีช่องโหว่ให้โจมตีน้อยกว่า
  3. เร็วกว่า ทำให้ลดเวลาในการประมวลผลแพ็คเกจลง 
  4. รับ Bandwidth ได้สูง
  5. กรองแพ็คเกจด้วยการตั้ง Rule ที่ตั้งมาจากผู้ผลิต
  6. เพราะเป็น Hardware แยกต่างหาก ทำให้ไม่ต้องใ ช้ทรัพยากรร่วมกับ Server ต่าง ๆ
  7. สามารถทำ VPN ในกรณีที่ต้องการการเชื่อมต่อที่ปลอดภัยมากขึ้น

Hardware Firewall มีทั้งหมด 5 ประเภท ดังนี้

  • Packet Filtering Firewall : เป็น Firewall ที่จะทำการตรวจสอบแพ็คเกจ (กลุ่มข้อมูล) ว่าตรงกับเงื่อนไขหรือเกณฑ์ที่ผู้ดูแลระบบกำหนดไว้หรือไม่

    ถ้าผ่านเกณฑ์ทั้งหมด = ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือข้อมูลก็จะถูกส่งออกไปหรือรับเข้ามาในเครือข่าย
    ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์ = ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ ข้อมูลก็จะถูกปฎิเสธการนำเข้าหรือส่งออก

    ข้อดี : ประสิทธิภาพในการประมวลผลแพ็คเกจ
    ข้อเสีย : มีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตี
  • Circuit-level Gateway : เป็น Firewall ที่ใช้ตรวจสอบเส้นทางการเชื่อมต่อของเครือข่าย โดยสร้างแบบจำลองโครงข่ายการเชื่อมต่อขึ้น เพื่อพิจารณาความน่าเชื่อถือของเครือข่ายที่เชื่อมต่อเข้ามา โดย Firewall ประเภทนี้จะไม่สามารถตรวจสอบ Packet ด้วยตนเองได้ แต่การตรวจสอบ Packet จะทำงานบน Transport Layer ใน OSI Model 
    ข้อดี : การรับส่งและประมวลผลข้อมูลดีกว่า Application-level Gateway
    ข้อเสีย : ไม่สามารถกรองเนื้อหา Packet ที่เข้ามาได้
  • Stateful Inspection Firewall : เป็น Firewall ที่ใช้ตรวจสอบ Packet ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่า Packet นี้เคยเข้ามาในระบบเครือข่ายหรือไม่ โดยนำข้อมูลของแพ็คเกจเดิมและ Packet ปัจจุบันมาตรวจสอบกัน ซึ่งมีความปลอดภัยกว่าการกรองแพ็คเกจ หรือการตรวจสอบเส้นทางการเชื่อมต่อเพียงอย่างเดียว

    ข้อดี : ปิดกั้นและป้องกันการโจมตีช่องโหว่ของ Protocol ได้
    ข้อเสีย : ผู้ดูแลระบบต้องมีความรู้เป็นพิเศษเพื่อการกำหนดค่าที่ปลอดภัย
  • Application-level Gateway : เป็น Firewall ประเภทที่ตรวจสอบเส้นทางการส่งข้อมูลและเนื้อหาของ Packet ในระดับ Application นอกจากนั้นยังกรองและปิดกันการโจมตีที่มองไม่เห็นบนเครือข่าย OSI Model ได้ และยังสามารถทำหน้าที่แทน Proxy Firewall ได้ในบางครั้ง
    ข้อดี : สามารถตรวจสอบและปิดกั้นการโจมตีที่มองไม่เห็นจากเครือข่ายจำลองบน OSI Model ได้
    ข้อเสีย : มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องมีการติดตั้ง Proxy สำหรับแอปพลิเคชั่นเครือข่ายทุกตัวที่ใช้งาน
  • Next-generation Firewall :  เป็น Firewall ที่มีประสิทธิภาพสูง และสามารถรับมือภัยคุกคามที่ซับซ้อน รวมการตรวจสอบเส้นทางเครือข่ายเข้ากับการตรวจสอบ Packet และยังรวมถึง Deep Packet Inspection (DPI) เป็นการรวมรูปแบบของ Packet ที่หลากหลาย รวมทั้งระบบรักษาความปลอดภัยเครือข่ายอื่นๆ เช่น การตรวจจับ / ป้องกันการบุกรุกการกรองมัลแวร์ และโปรแกรมป้องกันไวรัส โดยฟังก์ชันที่เพิ่มมีความแตกต่างจาก Firewall ทั่วไป คือ การเข้าถึงระดับ Application Layer สามารถแยกการใช้งานของ Application Layer ว่าเป็นการใช้โปรแกรม LINE, Facebook, Youtube หรือเป็นโปรแกรมประเภทอะไร ทำให้สามารถตั้ง Policy เพื่อทำการควบคุมการใช้งาน Application ต่าง ๆ เหล่านั้นได้

    ข้อดี : รวมความสามารถของ Firewall ประเภทอื่นและระบบความปลอดภัยอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน สามารถใช้งานได้รอบด้าน
    ข้อเสีย : มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องมีการกำหนดค่าโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ Firewall สามารถทำงานบนระบบที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. Software Firewall

Software Firewall เป็นโปรแกรมที่ใช้ติดตั้งบน Client หรือ Server โดยสามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งได้ และ ยังมีแบบที่เป็นโปรแกรมที่ติดตั้งมากับระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ด้วย เช่น Windows Defender (ระบบปฏิบัติการ Windows) และ UFW (ระบบปฏิบัติการ Ubuntu) ซึ่ง Software Firewall  จะมีข้อดีหลัก ๆ ดังนี้

  1. มีทั้งแบบฟรี และเสียค่าใช้จ่าย ในราคาที่ไม่แพง
  2. ติดตั้งได้โดยไม่ต้องติดตั้งพื้นที่ใน Data Center เพิ่มเติม
  3. ติดตั้งได้ง่าย สามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งเองได้ และมีค่า Default ที่สามารถป้องกันพื้นฐานได้ทันที
  4. ไม่ติดกับ Hardware สามารถลงได้บน Hardware ที่หลากหลาย

Hardware Firewall กับ Software Firewall มีความแตกต่างอย่างไร

จะเห็นได้ว่า Hardware Firewall จะเหมาะสำหรับการปกป้องระบบที่มีความสำคัญ เช่น Server Farm มากที่สุด 

แต่กรณีที่เป็น Software Firewall  จะเหมาะสำหรับการป้องกันภัยที่เกิดจากการพฤติกรรมการใช้งานของ User ที่มีหลากหลาย ยากแก่การคาดเดา ไม่มีพื้นฐานหรือกฏเกณฑ์ตายตัว ทำให้ตัว Firewall จำเป็นจะต้องปรับตัวได้ และสามารถทำงานร่วมกับ Third Party Solution เช่น  Anti-Virus Engine ก็จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

สรุป 

Firewall เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่จะช่วยให้เครือข่ายที่ใช้งานปลอดภัยมากขึ้น ซึ่ง Firewall แต่ละประเภท ก็จะมีข้อดี-ข้อเสีย ที่แตกต่างกันไป ผู้ที่ต้องการใช้งานอาจจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อการใช้งานที่เหมาะสม หรือสามารถปรึกษาหน่วยงานภายนอกเพื่อที่จะได้กำหนด Solution ให้ตรงกับความต้องการในแต่ละองค์กรได้

ที่มา: wikipedia , forum.overclockzone

บทความที่เกี่ยวข้อง