พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) หากไม่ปฏิบัติตามจะมีผลอย่างไร
1 มิถุนายน 2021
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการประกาศเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ไปอีกหนึ่งปีจากกำหนดการเดิมคือ 1 มิถุนายน 2564 โดยเป็นการประกาศจาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2565 เพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจภาครัฐและเอกชน ที่ยังไม่พร้อมในการปฏิบัติตามข้อบังคับเนื่องจากสถานการณ์การระบาดร้ายแรงโควิด-19
ที่ผ่านมา หลายธุรกิจตื่นตัวในเรื่องข้อบังคับตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีบทลงโทษทางแพ่ง ทางอาญาและทางปกครองหลายประการสำหรับผู้ที่กระทำความผิดต่อการควบคุมข้อมูลของประชาชน จึงทำให้หลายภาคส่วนยื่นคำขอพิจารณาถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ขยายเวลาการบังคับใช้ เพราะมีหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ทันทีและอาจผิดตามกฏหมายข้อบังคับและถูกลงโทษได้ โดยหน่วยงานหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้แก่
บุคคลทั่วไป ผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject)
บุคคลที่ข้อมูลนั้นระบุไปถึงเจ้าของข้อมูลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller)
บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ “ตัดสินใจ” เกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น หน่วยงานของรัฐ หรือเอกชนโดยทั่วไป ที่เก็บรวบรวม ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนหรือลูกค้าที่มาใช้บริการ
ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (Data Processor)
บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล “ตามคำสั่งหรือในนามของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล” ทั้งนี้บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการดังกล่าว ต้องไม่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
หากองค์กรที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ทั้งภาครัฐและเอกชนก็จะมีบทลงโทษแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ โทษทางแพ่ง โทษทางอาญา และโทษทางปกครอง ดังนี้
1.โทษทางแพ่ง
หากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล หรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้เจ้าของข้อมูลเสียหายจะต้องชดใช้ “ค่าสินไหมทดแทน” ไม่ว่าการดำเนินการที่ฝ่าฝืนกฎหมายนั้นจะเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ** โดยมีข้อยกเว้น คือ พิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัย เกิดจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติตามอำนาจของกฎหมาย
- ค่าสินไหมทดแทน จ่ายสินไหมไม่เกิน 2 เท่าของสินไหมที่แท้จริง
- อายุความ 3 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงความเสียหาย และรู้ตัวผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล หรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องรับผิด หรือ 10 ปีนับแต่วันที่มีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
2.โทษทางอาญา
โทษทางอาญาแบ่งออกเป็น การใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นข้อมูลอ่อนไหวโดยปราศจากฐานทางกฎหมาย ทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความ อับอาย และการใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นข้อมูลอ่อนไหวโดยปราศจากฐานทางกฎหมาย เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ** เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ การเปิดเผยเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนหรือพิจารณาคดี การเปิดเผยแก่หน่วยงานของรัฐ ในประเทศหรือต่างประเทศที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย การเปิดเผยที่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือเฉพาะครั้งจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีต่างๆ ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ
- โทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.โทษทางปกครอง
โทษทางปกครอง จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ โทษของผู้ควบคุมข้อมูล, โทษของผู้ประมวลผลข้อมูล และโทษทางปกครองอื่นๆ
3.1 โทษของผู้ควบคุมข้อมูล
- การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจากฐานทางกฎหมาย
- การไม่ขอความยินยอมให้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่แจ้งผลกระทบจากการถอน ความยินยอม
- การเก็บรวบรวม ใช้หรือเปิดเผยข้อมูลผิดไปจากวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้โดยไม่ได้แจ้งวัตถุประสงค์ใหม่หรือมีกฎหมายให้ทำได้
- การเก็บรวบรวมข้อมูลเกินไปกว่าที่จำเป็นภายใต้วัตถุประสงค์อันชอบด้วยกฎหมายของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
- การเก็บข้อมูลจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของข้อมูลโดยตรงที่ต้องห้ามตามกฎหมาย
- การขอความยินยอมที่เป็นการหลอกลวงหรือทำให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลเข้าใจผิดในวัตถุประสงค์
- การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผย การโอนข้อมูลอ่อนไหวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- การไม่แจ้งเจ้าของข้อมูลทั้งในกรณีเก็บข้อมูลจากเจ้าของข้อมูลโดยตรงหรือโดยอ้อม
- การไม่ให้เจ้าของข้อมูลเข้าถึงข้อมูลตามสิทธิ
- การไม่ดำเนินการตามสิทธิคัดค้านของเจ้าของข้อมูล
- การไม่จัดให้มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
- การไม่จัดให้มีการสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วน บุคคลอย่างเพียงพอ
- การโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังต่างประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- การไม่จัดให้มีมาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสม การไม่จัดให้ มีระบบตรวจสอบเพื่อลบทำลายข้อมูลหรือไม่ปฏิบัติสิทธิในการลบเมื่อถอนความ ยินยอมหรือตามสิทธิในการขอลบข้อมูล
3.2 โทษของผู้ประมวลผลข้อมูล
- การไม่จัดให้มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือการไม่สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเพียงพอ
- การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ควบคุมข้อมูล การไม่จัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสม การไม่จัดทำบันทึกรายการกิจกรรมการประมวลผล
- การโอนข้อมูลไปต่างประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- การไม่ตั้งตัวแทนในราชอาณาจักรในกรณีที่กฎหมายกำหนด
- การโอนข้อมูลอ่อนไหวไปต่างประเทศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3.3 โทษทางปกครองอื่น ๆ
- ตัวแทนของผู้ควบคุมข้อมูลหรือผู้ประมวลผลข้อมูล ไม่จัดให้มีบันทึกรายการประมวลผลข้อมูล
- ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมผู้เชี่ยวชาญ หรือไม่มาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือไม่ส่งข้อมูลให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ
- โทษทางปกครองปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000,000 บาท
อย่างที่ทราบกันดีว่าข้อมูลประชาชนทุกธุรกิจภาครัฐและภาคเอกชนสามารถจัดเก็บได้ ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ-นามสกุล เลขที่บัตรประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล IP Address ข้อมูลสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม เป็นต้น แต่การจัดเก็บต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูลและถูกจัดเก็บอย่างปลอดภัย ซึ่งหากจะนำมาใช้ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเสมอ หากไม่ปฏิบัติตามก็อาจถูกลงโทษตามข้อบังคับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ทั้งนี้ สำหรับประชาชนทั่วไปผู้เป็นเจ้าของข้อมูล ควรระมัดระวังในการให้ข้อมูลรวมถึงระมัดระวังในการใช้งานอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ โซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อลดปัญหาด้านข้อมูลรั่วไหล ลดความเสียหายจากการถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมไม่ว่าจะเป็นทั้งทางตรง หรือ ทางอ้อม
ที่มา: https://www.rbpho.moph.go.th/upload-file/doc/files/14012020-094941-9111.pdf และ
https://www.law.chula.ac.th/wp-content/uploads/2019/10/TDPG2.0-C5-20191009.pdf
บทความที่เกี่ยวข้อง