6 วิธีลดความเสี่ยงข้อมูลรั่วไหลจากเว็บไซต์หางาน

27 ตุลาคม 2020

NT cyfence
NT cyfenceทีมงาน NT cyfence ที่พร้อมให้คำปรึกษา และ ดูแลความปลอดภัยให้กับทุกองค์กร อย่างครบวงจร ด้วยทีมงานมืออาชีพ

วิธีการที่คนหางานในทุกวันนี้กลายเป็นรูปแบบออนไลน์แทบจะหมดแล้ว เพราะเป็นวิธีที่ง่ายมากเพียงแค่กรอกใบสมัครผ่านทางออนไลน์ จากที่ไหนก็ได้ แล้วรอการติดต่อกลับมาเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องเดินเท้าเข้าไปตามบริษัทต่าง ๆ เพื่อสมัครงาน แต่ในความสะดวกสบายและง่ายดายก็อาจแฝงไปด้วยความอันตรายเช่นกัน เพราะว่าการหางานออนไลน์ต้องฝากข้อมูลส่วนตัวทิ้งไว้บนเว็บไซต์หางาน ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด อีกทั้งจำนวนผู้จบใหม่ และ อัตราการว่างงานยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกวัน โดยข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน และ สำนักงานประกันสังคม มีจำนวนผู้ว่างงานในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มากถึง 435,010 คน

ข้อมูลจาก : https://thestandard.co/new-record-thailand-unemployment-rate-2020/

ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อจากการถูกคุกคามด้วย cyber security ก่อนส่งใบสมัครงานควรทำขั้นตอนต่อไปนี้

  1. ไม่ใส่ข้อมูลส่วนตัวเกินความจำเป็น

    อย่างที่คุ้นเคยกันดีว่าในหน้ากรอกข้อมูลส่วนตัวบนเว็บสมัครงานมักจะมีช่องที่เป็นข้อมูลที่จำเป็นต้องกรอก หากไม่กรอกลงไปจะไม่สามารถส่งข้อมูลได้ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรจำกัดข้อมูลติดต่อบางอย่างเช่น ที่อยู่ , เบอร์โทรบ้าน , E-mail ส่วนตัว แต่แนะนำให้สร้าง E-mail สำหรับสมัครงานไว้โดยเฉพาะ แล้วทำการตั้งค่าการส่งต่อไปยังเมลหลัก อย่างน้อยก็สามารถลดวามเสี่ยงเมื่อเกิดการรั่วไหลของข้อมูลของผู้ให้บริการได้

  2. เลือกผู้ให้บริการประกาศรับสมัครงานที่น่าเชื่อถือ

    จริงอยู่ที่ว่าเมื่อสมัครงานมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสได้งานมากขึ้นเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ควรเลือกที่จะสมัครในตำแหน่งที่ต้องการจริง ๆ และ ที่สำคัญคือให้เลือกเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงที่มีนโยบายความเป็นส่วนตัวระบุไว้อย่างชัดเจน ควรอ่านนโยบายอย่างละเอียดและลงสมัครลงบนเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้เพียง 2-3 เว็บไซต์เท่านั้น ไม่ควรโพสต์ประวัติกระจายไปหลายเว็บไซต์เพราะถ้าหากไปเจอเว็บไซต์ที่ไม่ปลอดภัยของมูลส่วนตัวอาจรั่วไหลได้

  3. เลือกผู้ให้บริการที่จำกัดการให้ข้อมูลส่วนตัว

    บนเว็บไซต์หางานบางเว็บไซต์จะสามารถจำกัดข้อมูลที่ผู้ลงสมัครไม่ต้องการเปิดเผยได้ โดยปกติแล้วผู้ว่าจ้างหรือบริษัทที่เชื่อถือได้และถูกต้องตามกฎหมายจะไม่ขอข้อมูลส่วนตัวที่ไม่จำเป็นของผู้สมัครงาน เช่น ข้อมูลส่วนตัวของบิดา-มารดา หรือ Facebook ส่วนตัว เป็นต้น

  4. ระมัดระวังการใช้ Social Network

    หากจำเป็นต้องให้ Facebook ส่วนตัว ผู้ว่าจ้างก็สามารถเข้าถึงบัญชี Social Network ที่แชร์แบบ Public ไว้ เพื่อความปลอดภัยควรระมัดระวังสิ่งที่แชร์ลงบน Social Media แบบ Public ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์รูป เช็คอิน หรือการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ อาจจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบางอย่างที่ไม่จำเป็น

  5. เมื่อได้งานแล้ว ควรลบข้อมูลส่วนตัวบนเว็บไซต์หางาน

    หลังจากที่ได้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ควรลบข้อมูลส่วนตัวออกจากเว็บไซต์หางาน และลบประวัติการกดสมัครงานไว้ออกให้หมด เพราะอาจมีการรั่วไหลของข้อมูลเกิดขึ้นได้ แม้จะดูยุ่งยากในกรณีที่ต้องการหางานใหม่ แต่แลกมาด้วยความปลอดภัยของข้อมูลแล้วถือว่าคุ้มค่ากว่ามาก

  6. ระมัดระวังการถูกหลอกลวง

    มิจฉาชีพมักจะรวบรวมข้อมูลส่วนตัวของผู้หางานหลาย ๆ คนจากเว็บไซต์หางาน เพื่อปลอมเป็นบริษัทใหญ่ที่มีความดูดีเกินจริงแล้วส่ง E-mail ไปหลอกลวงผู้หางาน ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าโปรไฟล์ของผู้ว่าจ้างจริง ๆ ก่อนที่จะคลิกเพื่อทำการสมัคร โดยการนำชื่อบริษัทหรือผู้ว่าจ้างไปค้นหาออนไลน์ หากงานที่เสนอมาดูไม่น่าไว้ใจหรือให้ผลตอบแทนเกินจริงให้ปฏิเสธไปทันที

การหางานผ่านเว็บไซต์หางานนั้นคงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การจำกัดการให้ข้อมูล การลบข้อมูลเมื่อได้งานแล้ว หรือการลดการเผยแพร่ข้อมูลอย่างไม่จำเป็นเป็นเรื่องที่ควบคุมได้  เพราะเรื่อง Cyber Security ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราสามารถเริ่มต้นลดความเสี่ยงได้จาก 6 วิธีที่กล่าวข้างต้นได้ตั้งแต่วันนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง